สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ย. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 พ.ย. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 1,277 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อันดับที่สองของ สอ. และเป็นเจ้าของกิจการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า Argos ให้ข้อมูลว่ายอดขายโดยรวมของบริษัทในช่วง ๖ เดือน (เม.ย.-ก.ย. ๒๕๖๕)  ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๔ (ประมาณ ๑.๖๔ หมื่นล้านปอนด์) แต่มีกำไรก่อนหักภาษีลดลงในอัตราร้อยละ ๘ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ประมาณ ๓๔๐ ล้านปอนด์) โดยมีปัจจัยจากต้นทุนค่าแรงและต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามภาวะค่าครองชีพสูง บริษัทมีนโยบายใช้ผลกำไรตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคจึงรับภาระต้นทุนราคาอาหารที่ปรับขึ้นไว้แล้วส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทได้ประกาศแผนฟื้นฟูโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุนมูลค่า ๑.๓ พันล้านปอนด์ โดยปิดพื้นที่ร้านอาหารภายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและกิจการ Argos แบบ standalone หลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งจะปิดเพิ่มอีก ๕๐ แห่งภายในปีนี้ และจะจัดพื้นที่ภายในบริเวณซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จำนวน ๒๕ แห่งเพื่อให้บริการลูกค้าของ Argos แทน อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อว่าแม้กำไรลดลงแต่ยังมีสภาพคล่องสะสมไว้เพียงพอเพื่อเตรียมรับภาวะต้นทุนสูงตามสถานการณ์ของตลาดและจะสามารถฝ่าวิกฤตค่าครองชีพครั้งนี้ได้[1] อีกทั้งประเมินว่าในช่วงเทศกาลคริสมาสต์จะมียอดขายเพิ่มขึ้นสูงเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ อีกครั้ง จึงได้เตรียมแผนการจ้างแรงงานชั่วคราวจำนวน ๑๘,๐๐๐ รายในช่วงดังกล่าวแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของผู้ประกอบการรายอื่น[2]
    ๑.๒ การจ้างงาน บ. British Telecoms (BT) มีผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย. ๒๕๖๕) ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๘ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจากประมาณ ๑ พันล้านปอนด์ เหลือเพียง ๘๓๑ ล้านปอนด์  โดยมีปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทคาดว่าต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ ๒๐๐ ล้านปอนด์ในสิ้นปีนี้ จึงจำเป็นต้องขยายแผนลดรายจ่ายเพิ่มเติมให้ได้ถึงประมาณ ๓ พันล้านปอนด์ ภายในสิ้นปี งปม. ๒๕๖๘ (เพิ่มอีกประมาณ ๕๐๐ ล้านปอนด์จากแผนเดิมที่ประกาศเมื่อปี ๒๕๖๑) จึงอาจส่งผลให้บริษัทต้องเลิกจ้าง พนง. บางส่วนเพิ่มอีกในอนาคต (ก่อนหน้านี้ในปี ๒๕๖๑ บ. BT ได้ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๑๓,๐๐๐ ตำแหน่งทั่วโลกภายใน  ๓ ปี)[3] ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดแรงงานของ สอ. มีอัตราการว่างงานในระดับต่ำที่ร้อยละ ๓.๖ (ต่ำกว่าช่วงก่อน Brexit และวิกฤตโควิด-๑๙) แต่เริ่มทรงตัวและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในภาคค้าปลีกที่มีตำแหน่งงานว่างเพิ่มมากขึ้นเกือบ ๑ แสนตำแหน่ง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการลดต้นทุนการจ้างงานและการประวิงการจ้างงานไว้ก่อนเพื่อรอดูภาวะ ศก.[4]
    ๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก Made.com ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านออนไลน์ของ สอ. ประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยจากปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มหรือผู้เข้าซื้อกิจการได้ทัน ล่าสุด บ. Next ได้เข้าซื้อกิจการในส่วนของชื่อเว็บไซต์ (domain name) และทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้นคิดเป็นมูลค่า ๓.๔ ล้านปอนด์ แต่การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวไม่รวมสต็อกสินค้า ส่งผลให้ พนง. ถูกเลิกจ้างทันทีจำนวน ๓๒๐ ตำแหน่ง (จากทั้งหมด ๕๗๓ ตำแหน่งใน สอ. ยุโรป และเวียดนาม) โดย Next จะจ้าง พนง. ส่วนที่เหลือต่อไปเพื่อรองรับการปิดกิจการให้เสร็จสิ้น             
    อนึ่ง Made.com ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ โดยในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ยอดขายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน (London Stock Exchange) เมื่อเดือน มิ.ย. ๒๕๖๔ ด้วยทุนจดทะเบียน ๗๗๕ ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี จากปัญหาการบริหารจัดการที่ผิดพลาด การได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมโควิด-๑๙ ที่เข้มงวดของจีนที่ส่งผลให้โรงงานปิดตัว การมีต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น (ยังมีสต๊อกสินค้าค้างส่งจากเอเชียจำนวนมากเนื่องจากไม่สามารถชำระค่าขนส่งได้) กอปรกับ ปชช. ส่วนใหญ่ลดการใข้จ่ายลงแล้วโดยเฉพาะสินค้า  ที่ไม่จำเป็นหรือมีราคาแพงในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีสต๊อกสินค้าค้างในโกดังจำนวนมากและค้างส่งมากถึงประมาณ ๑๒,๐๐๐ คำสั่งซื้อ จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเก็บรักษา[5]
    ๑.๔ พลังงาน ปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยาวนานส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงาน   ในยุโรป และ สอ. โดยคาดการณ์ว่าอาจเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานกระทันหัน (blackout) ได้ในช่วงฤดูหนาวนี้ ทั้งนี้ National Grid ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมเครือข่ายการแจกจ่ายไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มให้แก่บริษัทจำหน่ายพลังงาน (energy supplier) ใน สอ. ประกาศแผน "Demand Flexibility Service" เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะดังกล่าว โดยขอให้ภาคครัวเรือนของ สอ. (อังกฤษ, สกอตแลนด์ และเวลส์) ลดการใช้ไฟฟ้าในวันและเวลาที่กำหนดเป็นเวลา ๑ ชม. คาดว่าจะมีการทดสอบเบื้องต้นรวมจำนวน ๑๒ วัน ในช่วงเดือน พ.ย. ๒๕๖๕ - มี.ค. ๒๕๖๖ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของวัน ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการหาแนวทางป้องกันการขาดแคลนพลังงานใน สอ. อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย[6]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    
เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย. ๖๕ นาย Jeremy Hunt รมว. กค. สอ. ประกาศแผนบริหาร งปม. ประจำครึ่งปีหลังของปี ๒๕๖๕ (Autumn Statement 2022) โดยมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ตลอดจนพยายามรักษาดุลยภาพในแก้ไขปัญหาค่าครองชีพด้วยมาตรการด้านภาษีควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการคลัง ซี่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ[7] ดังนี้

๑) ภาษี

– ปรับลดเพดานเงินเดือนที่ต้องชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตราร้อยละ ๔๕ จากเดิมเริ่มต้นที่รายได้ตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป เป็นเริ่มต้นที่รายได้ตั้งแต่ ๑๒๕,๑๔๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป / คงเพดานเงินเดือนที่ต้องชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตราร้อยละ ๒๐ ไว้ที่รายได้ตั้งแต่ ๑๒,๕๗๑ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป จนถึง เม.ย. ๒๕๗๑ / คงเพดานรายได้ที่ต้องชำระภาษีประกันสังคม (National Insurance Contributions – NICs) ไว้ที่ ๙,๑๐๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป จนถึง เม.ย. ๒๕๗๑

 

– ปรับลดเพดานการยกเว้นภาษีสำหรับผลกำไรจากเงินปันผลจาก ๒,๐๐๐ ปอนด์ เป็น ๑,๐๐๐ ปอนด์ในปีหน้า และลดลงเป็น ๕๐๐ ปอนด์ ในเดือน เม.ย. ๒๕๖๗ / ปรับลดเพดานการยกเว้นภาษีสำหรับผลกำไรจากการขายสินทรัพย์จากผลกำไรตั้งแต่ ๑๒,๓๐๐ ปอนด์ต่อปี เป็นผลกำไรตั้งแต่ ๖,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีในปี ๒๕๖๖ และ ๓,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีในเดือน เม.ย. ๒๕๖๗

 

–  คงเพดานรายได้ของบริษัทที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT registration) ที่รายได้ตั้งแต่ ๘๕,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไปจนถึงปี ๒๕๖๗ / คงเงินช่วยเหลือนายจ้างโดยลดหย่อนภาษี NICs สูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐ ปอนด์ต่อปีจนถึง เม.ย. ๒๕๗๑                                       

 

– เริ่มเก็บภาษีการใช้ถนนสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี ๒๕๖๘ เป็นต้นไป

 

– อนุญาตให้องค์กรบริหารท้องถิ่นในอังกฤษสามารถปรับขึ้นภาษีโรงเรือนได้ในไม่เกินอัตรา    ร้อยละ ๕ จากเดิมไม่เกินร้อยละ ๓

๒) พลังงาน

– ปรับขึ้นการเก็บภาษีจากกำไรของบริษัทพลังงาน (Energy Profits Levy หรือ Windfall tax) จากเดิมในอัตราร้อยละ ๒๕ เป็นอัตราร้อยละ ๓๕ จนถึงปี ๒๕๗๑ และประกาศมาตรการเก็บภาษีจากกำไรของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าในอัตราร้อยละ ๔๕ เริ่มมีผลเดือน ม.ค. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

 

– คงเพดานค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือนไว้ที่อัตราเฉลี่ย ๒,๕๐๐ ปอนด์/ครัวเรือน จนถึง มี.ค. ๒๕๖๖ และจะปรับเพดานค่าธรรมเนียมขึ้นเป็นอัตราเฉลี่ย ๓,๐๐๐ ปอนด์/ครัวเรือน ตั้งแต่ เม.ย. ๒๕๖๖ เป็นเวลา ๑๒ เดือน

 

– รบ. สอ. มีแผนเพิ่มเงินลงทุนสองเท่าตัวสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกของอาคาร สนง. และภาคอุตสาหกรรมในอัตราร้อยละ ๑๕ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยจะจัดสรรเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวน ๖ พันล้านปอนด์ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๘ เป็นต้นไป และยืนยันโครงการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (Sizewell C) ในเมือง Suffolk ต่อไป

๓) การช่วยเหลือ

ภาคครัวเรือน

– การให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่ยากไร้จำนวน ๙๐๐ ปอนด์ต่อครัวเรือน / ให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่เกษียณจากการทำงานแล้วจำนวน ๓๐๐ ปอนด์ต่อครัวเรือน / ให้เงินช่วยเหลือแก่บุคคลพิการจำนวน ๑๕๐ ปอนด์ต่อครัวเรือน

 

– ปรับขึ้นอัตรารายได้ขั้นต่ำ (national living wage) จาก ๙.๕๐ ปอนด์ต่อ ชม. เป็น ๑๐.๔๒ ปอนด์ต่อ ชม. ตั้งแต่ เม.ย. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

๔) ด้านอื่น ๆ

– เพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ระบบสาธารณสุขของ สอ. (NHS) จำนวน ๓.๓ พันล้านปอนด์ ใน ๒ ปีข้างหน้า / ให้เงินสนับสนุนแก่สถานดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (social care) จำนวน ๒.๘ พันล้านปอนด์ในปีหน้า และเพิ่มอีก ๔.๗ พันล้านปอนด์ในปี ๒๕๖๗

 

– เพิ่มเงินสนับสนุนแก่โรงเรียนต่าง ๆ ใน สอ. จำนวน ๒.๓ พันล้านปอนด์ใน ๒ ปีข้างหน้า

 

– รักษากรอบวงเงิน งปม. ด้านกลาโหมไว้ที่ขั้นต่ำร้อยละ ๒ ของ GDP

 

– ย้ำว่าหากสถานการณ์ ศก. เหมาะสมจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีต่าง ๆ ต่อไปตามนโยบายของพรรคฯ ที่หาเสียงไว้


      ทั้งนี้ ในภาพรวม แผน งปม. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะลดรายจ่ายภาครัฐประมาณ ๓ หมื่นล้านปอนด์และเพิ่มรายได้จากภาษีประมาณ ๒.๔ หมื่นล้านปอนด์เพื่อนำมาใช้จ่ายในมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานที่คาดว่าจะต้องใช้ งปม. ประมาณ ๕.๕ หมื่นล้านปอนด์ในช่วง ๒ ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบของ รบ. สอ. ภายใต้การนำของ นรม. Rishi Sunak เพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยภายหลังการประกาศแผนดังกล่าว ปฏิกิริยาจากภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดีและไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยใด (อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวที่ระดับ ๑ ปอนด์/๑.๑๗-๑.๑๘ ดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันที่ ๑๗ - ๑๘ พ.ย. ๒๕๖๕[8]) นอกจากนี้ Office for Budget Responsibility (OBR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้ประเมินว่าการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อใน สอ. ลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๙ ในปลายปีนี้ และร้อยละ ๗  ในปี ๒๕๖๖

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ปัญหาเงินเฟ้อใน สอ. ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๑๐.๑ ในเดือน ก.ย. มาอยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๑ ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบกว่า ๔๐ ปี ส่งผลกระทบให้ภาคครัวเรือนของ สอ. มีกำลังซื้อลดลงและยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวทาง ศก. ของ สอ. ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics) ระบุว่า ศก. สอ. ในไตรมาสที่สามของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๒[9] ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) เห็นว่า สอ. กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยที่ยาวนานที่สุดใน ปวศ.    โดยคาดว่าจะยาวนานเป็นเวลา ๒ ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สามที่ผ่านมาจนถึงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๗ นอกจากนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบให้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๖.๔ ในปี ๒๕๖๘ ด้วย (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ ร้อยละ ๓.๕) เบื้องต้น BoE ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลางเป็นร้อยละ ๓ (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๒.๒๕ ในเดือน ต.ค.) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบ ๓๓ ปีเพื่อพยายามชะลออัตราเงินเฟ้อ และคาดว่าอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่อัตราร้อยละ ๔.๕ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีหน้านี้[10]   
   อนึ่ง OECD ประเมินว่า สอ. เป็น ปท. ที่ประสบปัญหาค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน ปท. กลุ่ม G7 โดยมีปัจจัยจากผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-๑๙ และปัจจัยซ้ำเติมจากวิกฤตพลังงาน สถิติรายได้ต่อหัวของภาคครัวเรือนของ สอ. ในช่วงสิ้นปี ๒๕๖๒ จนถึงไตรมาสที่สองของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓.๕ เทียบกับฝรั่งเศสที่ปรับลดลงร้อยละ ๐.๓ เยอรมนี อิตาลี และสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ ร้อยละ ๐.๕ และร้อยละ ๐.๙ ตามลำดับ[11]
    ๓.๒ ภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยรวมถึงมีแนวโน้มการหดตัวของยอดขายในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ปีนี้ โดยข้อมูลการสำรวจผู้บริโภคจำนวน ๔,๒๓๒ ราย จัดทำโดย YouGov พบว่า ๒ ใน ๓ ของผู้บริโภคใน สอ. วางแผนที่จะลดการใช้จ่ายเกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส โดยร้อยละ ๔๙ จะลดการซื้อของขวัญ ร้อยละ ๔๖ จะลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน และร้อยละ ๓๕   จะลดการซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการเฉลิมฉลองที่บ้านในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ทั้งนี้ ร้อยละ ๔๕ ของ   กลุ่มสำรวจมีแผนที่จะซื้อสินค้าอาหารจากห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และร้อยละ ๓๘ อาจต้องใช้เงินออมในการซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีบุตรอายุระหว่าง ๑๒-๑๘ ปี มีแนวโน้มพยายามลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด โดยร้อยละ ๗๓ ของกลุ่มนี้จะลดการใช้อุปกรณ์ทำความร้อน (heating) และร้อยละ ๗๑ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและรับประทานอาหารเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง[12] อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่ายอดขายโดยรวมของภาคธรุกิจค้าปลีกของ สอ. ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ ๖ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๘.๒๒ หมื่นล้านปอนด์เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน[13]



[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-63496408
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-63483664
[3] https://www.theguardian.com/business/2022/nov/03/bt-warns-of-more-job-losses-as-rising-bills-force-bigger-cost-cutting-drive
[4] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/uklabourmarket/november2022
[5] https://www.thetimes.co.uk/article/next-buys-made-com-out-of-administration-lvh8qr8cr
[6] https://www.bbc.co.uk/news/business-63483668
[7] https://www.theguardian.com/uk-news/2022/nov/17/autumn-statement-2022-key-points-jeremy-hunt-budget
[8] https://www.bankofengland.co.uk/boeapps/database/Rates.asp?TD=17&TM=Nov&TY=2022&into=GBP&rateview=L
[9] https://www.theguardian.com/business/2022/nov/16/uk-inflation-rate-energy-price-rises
[10] https://www.bbc.co.uk/news/business-63471725
[11] https://www.telegraph.co.uk/business/2022/11/07/ftse-100-markets-live-news-tax-autumn-budget-steel-house-prices/
[12] https://www.consultancy.uk/news/32770/two-thirds-of-uk-consumers-to-cut-christmas-spending
[13] https://www.statista.com/statistics/792411/christmas-sales-forecast-united-kingdom-uk/#:~:text=Christmas%20sales%20in%20the%20United%20Kingdom%20(UK)%202016%2D2022&text=Forecast%20for%202022%20suggests%20that,pounds%2C%20declining%20by%206.3%20percent