วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
1. รบ. สอ. ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จาก 7.83 ปอนด์/ชม. เป็น 8.21 ปอนด์ (คิดเป็น ร้อยละ 4.9) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2562 อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน มีการประกาศปรับขึ้นค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนต่าง ๆ ด้วยเช่น ค่าภาษีโรงเรือน (council tax) ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าโทรศัพท์ และค่าตรวจรักษาทางทันตกรรม เป็นต้น
2. สายการบิน EasyJet ประกาศว่า ยอดขายบัตรโดยสารสำหรับ 6 เดือนข้างหน้าซึ่งรวมถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ก.ค. - ส.ค.) มีอัตราต่ำกว่าที่คาด โดยบริษัทฯ คิดว่ามีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนด้านกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทาง และความผันผวนของค่าเงินจาก Brexit ลูกค้าจึงยังไม่กล้าตัดสินใจวางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้า ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะขาดทุนประมาณ 275 ล้านปอนด์ ในช่วงครึ่งปีแรก
3. รายงานเกี่ยวกับ ศก. สอ. ที่จัดทำโดย บ. Goldman Sachs ชี้ว่า นับตั้งแต่การลงประชามติในปี 2559 Brexit ส่งผลกระทบให้ สอ. สูญเสียเงินไปกว่า 600 ล้านปอนด์/สัปดาห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP สภาวะความไม่แน่นอนของ Brexit เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยของลดลง และส่งผลกระทบต่อ ปท. คู่ค้าหลักของ สอ. ได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศส ทั้งนี้ Goldman Sachs กล่าวว่า หาก สอ. หาข้อสรุปเรื่อง Brexit ได้เร็วก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพทาง ศก. สอ. ให้ดีขึ้น และหาก สอ. ยังคงอยู่ในอียู จะทำให้ความมั่นใจของภาคธุรกิจกลับคืนมาซึ่งจะทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนหน้าการลงประชามติ อนึ่ง หาก Brexit มีรูปแบบ no-deal จะเกิดผลเสียแก่ ศก. สอ. อย่างมหาศาล กอปรกับค่าเงินปอนด์ที่ปรับตัวลดลงมากอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นทั่วโลก
4. IMF ชี้ว่า no-deal Brexit จะทำให้ ศก. ถดถอยเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งแม้ว่า ศก. สอ. จะสามารถฟื้นตัวได้ในปี ๒๕๖๔ แต่คาดว่าขนาด ศก. จะเล็กลงร้อยละ 3.5 ภายปี 2564 นอกจากนั้น ศก. ของ สอ. และอียูจะได้รับผลกระทบมากในระยะยาว และในกรณีที่ no-deal Brexit ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ supply chains และทำให้ต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ธนาคารชาติของ สอ. ควรระมัดระวังการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนนโยบายการคลัง ควรออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือน หาก ศก. ชะลอตัวมากจนเกินไป
5. ผลสำรวจทางสถิติของบริษัทหลายแห่งที่เป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูลแก่ภาคธุรกิจชี้ว่า ในเดือน มี.ค. 2562 ภาคบริการของ สอ. หดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ก.ค. 2559 โดยปรับลงจากระดับ 51.3 ในเดือน ก.พ. เป็น 48.9 ในเดือน มี.ค. และมีสาเหตุจากความไม่มั่นใจที่จะลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เนื่องจาก Brexit อย่างไรก็ดี สถาบันสถิติแห่งชาติ สอ. ชี้ว่า บางอุตสาหกรรมมียอดการผลิตสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยา เคมีภัณฑ์ และแอลกอฮอล์ (ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 ในช่วง 3 เดือน จนถึงเดือน ก.พ. 2562)
ข้อสังเกต
1. แม้ว่าอัตราค่าแรงโดยรวมจะปรับตัวขึ้น แต่โดยที่ค่าครองชีพก็ขยับสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้ง Brexit ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเอกชนยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยและชะลอการลงทุน ดังนั้น อาจจะส่งผลให้ภาพรวมของ ศก. สอ. ในช่วงครึ่งปีแรกนี้อ่อนตัวลงและเติบโตอย่างจำกัดต่อไป
2. ยอดการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นมีสาเหตุจากการเร่งกักตุนสินค้าช่วงก่อนสิ้นเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเดิมในการออกจาก EU ของ สอ. ปัจจัยดังกล่าวจึงช่วยประคอง ศก. ในระยะสั้น หาก รบ. สอ. ยังไม่สามารถหาข้อสรุป Brexit ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาใหม่ได้ สอ. อาจประสบกับการชะลอตัวทาง ศก. เช่นนี้ต่อไป