วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
๑.๑ การส่งออก ข้อมูลจาก สนง. สถิติของเยอรมนี (Federal Statistics Office) รายงานว่า ยอดการส่งออกสินค้าจาก สอ. ไปเยอรมนีในครึ่งแรกของปี ๖๔ คิดเป็นมูลค่า ๑.๓๘ หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วถึงร้อยละ ๑๑ และคาดว่าจะทำให้ลำดับการเป็นคู่ค้าหลักของ สอ. กับเยอรมนีลดลงเป็นอันดับที่ ๑๑ ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ที่ สอ. ไม่อยู่ในรายชื่อ ปท. คู่ค้า ๑๐ อันดับแรกของเยอรมนี (ก่อนหน้าการลงประชามติ Brexit ในปี ๒๕๕๙ สอ. เคยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของเยอรมนี และอันดับที่ ๙ ในปี ๒๕๖๓) ทั้งนี้ หอการค้า สอ. ในเยอรมนี ให้ข้อมูลว่า Brexit ทำให้บริษัทในเยอรมนีหลายราย (ส่วนใหญ่เป็น SMEs) เลือกหาสินค้าทุนจาก ปท. อื่นใน EU แทนการนำเข้าสินค้าจาก สอ. เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในพิธีการด้านศุลกากรที่เพิ่มขึ้นโดยเยอรมนีนำเข้ายาและสินค้าด้านเกษตรกรรมจาก สอ. ลดลงมากถึงร้อยละ ๕๐ และ ๘๐ ตามลำดับ ในขณะที่ สอ. ยังนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๖ หรือคิดเป็นมูลค่า ๒.๓๒ หมื่นล้านปอนด์[1] โดยเยอรมนียังคงเป็นคู่ค้าหลักลำดับที่ ๓ ของ สอ. ในโลก (อันดับที่ ๑ และ ๒ คือ สหรัฐฯ และจีนตามลำดับ) และลำดับที่ ๑ ในยุโรป[2]
๑.๒ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer (M&S) ประกาศปิดสาขาถาวรจำนวน ๑๑ แห่งในฝรั่งเศสภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเหลือเพียง ๙ แห่งที่ยังเปิดดำเนินการในบริเวณสนามบินและสถานีรถไฟสำคัญ โดย M&S ระบุว่า มีปัจจัยจาก Brexit ซึ่งทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสดจาก สอ. ยุ่งยากมากขึ้นโดยเฉพาะขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารรับรองคุณภาพสินค้าและด้านศุลกากร และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมในฝรั่งเศสลดลง ทั้งนี้ ผู้บริโภคในฝรั่งเศสยังสามารถซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสินค้าตกแต่งบ้านบนเว็บไซต์ของบริษัทได้ต่อไป[3] ก่อนหน้านี้ในเดือน เม.ย. ๖๔ M&S ประกาศปรับแผนการตลาดสำหรับกิจการในสาธารณรัฐเช็กโดยยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์อาหารสดและอาหารแช่เย็นทั้งหมด และเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งและสินค้าตกแต่งบ้านแทน โดยเกิดจากปัญหาขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอาหารสดไปยัง EU เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการค้าปลีก สอ. หลายรายกำลังประสบในไอร์แลนด์เหนือโดยเป็นผลกระทบจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขในพิธีสารไอร์แลนด์เหนือแนบท้าย คตล. Withdrawal Agreement กับ EU
๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๒.๑ การจ้างงาน บ. Itsu ซึ่งเป็นร้านขายอาหารญี่ปุ่นแบบสะดวกซื้อของ สอ. เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประกาศปรับขึ้นค่าแรงให้แก่ พนง. ประจำสาขาต่าง ๆ จำนวน ๗๒ แห่ง ในอัตราร้อยละ ๑๑ มาอยู่ที่ ๑๐.๔๐ ปอนด์ต่อ ชม. (ค่าแรงขั้นต่ำตาม กม. ปัจจุบันอยู่ที่ ๘.๙๑ ปอนด์/ ชม.) เพื่อดึงดูดให้มีผู้สมัครเพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตของ สอ. เช่น Ocado, Aldi และ Waitrose ได้ปรับขึ้นค่าแรงให้แก่ พนง. เช่นกัน ในขณะที่ Tesco ประกาศให้โบนัสจำนวน ๑,๐๐๐ ปอนด์ต่อคน สำหรับ พนง. ขับรถ HGV รายใหม่ ข่าวดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการและ Hospitality ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[4] ที่ระบุว่า อัตราตำแหน่งงานว่าง (vacancies) ของ สอ. ในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. ๖๔ มีมากกว่า ๑ ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในช่วง ๒๐ ปี โดยเฉพาะภาคธุรกิจ Hospitality ที่มีอัตราสูงถึง ๑๓๔,๐๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ Confederation of British Industry (CBI) ให้ความเห็นว่า การขาดแคลนแรงงานจะส่งผลชะลอการฟื้นตัวทาง ศก. ของ สอ. จึงเสนอให้ รบ. มีมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การแข่งขันขึ้นค่าแรงดังกล่าวทำให้ สอ. กำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ ๓ ครั้งแรกในรอบ ๑๘ เดือน[5] ซึ่งจะมีผลให้มูลค่าการชำระดอกเบี้ยเงินกู้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นและ รบ. สอ. อาจต้องกู้ยืมเงินมากขึ้นด้วย จึงคาดได้ว่าธนาคารกลาง สอ. จะมีมาตรการแทรกแซงอัตราเงินเฟ้อในเร็ววันนี้
๒.๒ อสังหาริมทรัพย์ บ. Zoopla ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศเช่าและขายบ้านของ สอ. ให้ข้อมูลว่า อัตราค่าเช่าบ้านใน สอ. ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ ๕ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย ๔๕๖ ปอนด์ต่อปี ภายในช่วง ๑๒ เดือน (กค. ๖๓ - ก.ค. ๖๔) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่การเริ่มเก็บสถิติของ บ. Zoopla เมื่อปี ๒๕๕๑ โดยบริษัทเห็นว่ามีปัจจัยมาจากปริมาณอุปสงค์ที่มีมากเกินกว่าอุปทานในตลาด (สะท้อนว่า สอ. ยังมีปัญหาขาดแคลนบ้านพักอาศัยที่เพียงพอกับ ปชก.) กอปรกับปัจจัยจากการออกจากล็อกดาวน์ทำให้ปริมาณความต้องการเช่าบ้านในเมืองสำคัญทั่ว สอ. เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะในเมืองเอดินบะระ (ยกเว้นกรุงลอนดอนที่มีปริมาณความต้องการลดลงร้อยละ ๓.๘ ในเดือน ก.ค.) โดยอัตราค่าเช่าบ้านใน สอ. (ยกเว้นกรุงลอนดอน) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ๗๙๐ ปอนด์ต่อเดือน เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ ๗๕๐ ปอนด์ต่อเดือน ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าปริมาณความต้องการเช่าบ้านและราคาอาจมีการปรับลดลงหากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงที่ทำให้ต้องล็อกดาวน์อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้[6]
๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
๓.๑ เมื่อวันที่ ๗ ก.ย. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศปรับขึ้นภาษีประกันสังคม (National Insurance)ในอัตราร้อยละ ๑.๒๕ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๖ เม.ย. ๖๕ เป็นต้นไป ภายใต้ กม. ภาษีสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม(Health and Social Care Levy Bill)[7] ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบ NHS และสวัสดิการสังคม ของ สอ. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังวิกฤตโควิดโดยในปี งปม. ๒๕๖๕ รบ. จะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากผู้ที่มีรายได้จากการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ปี งปม. ๒๕๖๖ เป็นต้นไปยกเว้นผู้ที่มีอายุ ๖๖ ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมเงิน งปม. ได้จำนวน ๑.๒ หมื่นล้านปอนด์/ปี ทั้งนี้ รบ. จะจัดสรรเงินสนับสนุนจำนวน ๕.๔ พันล้านปอนด์ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของ สอ.ภายใน ๓ ปีข้างหน้านี้ นอกจากนี้ ยังประกาศมาตรการจำกัดค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลตลอดชีวิตไม่เกินมูลค่า ๘๖,๐๐๐ ปอนด์/คน สำหรับ ปชช. ในอังกฤษโดยรัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั้งหมดให้แก่ผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ ปอนด์ และจะช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์
๓.๒ เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย. ๖๔ นาย Grant Shapps รมว. ก. คมนาคม ประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน พนง. ขับรถ HGV ใน สอ. เพื่อเร่งลดปัญหาการขนส่งในระบบห่วงโซ่อุปทานและผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สำคัญได้แก่ ๑) ผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไปสามารถขับรถลากจูงรถพ่วงหรือคาราวานได้โดยไม่ต้องสอบขอใบอนุญาตมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ก.ย. ๖๔ เป็นต้นไป (เพื่อลดปริมาณคำร้องการสอบใบอนุญาตขับขี่โดยรวม) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มวันและเวลาสอบใบขับขี่รถ HGV ได้มากขึ้นประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ภายในปีนี้ ๒) ลดระยะเวลาการสอบให้สั้นลงโดยยกเลิกการสอบทักษะขับขี่บางรายการ เป็นต้น ๓) ผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่สำหรับรถ HGV พ่วงไม่จำเป็นต้องสมัครขอใบขับขี่สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กก่อน ซึ่งขั้นตอนที่สั้นลงนี้จะเพิ่มวันและเวลาสอบได้มากขึ้นประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน[8]
๓.๓ เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศขยายการผ่อนผันชั่วคราวการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าสินค้าจาก EU (grace period) สำหรับขั้นตอนการแจ้งก่อนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์และพืช (pre-notification of SPS goods) ออกไปจนถึงวันที่ ๑ ม.ค. ๖๕ (จากเดิมมีกำหนดวันที่ ๑ ต.ค. ๖๔) และสำหรับขั้นตอนการตรวจสอบใบรับรองสุขภาพสัตว์/พืช (Export Health Certificates) ให้บังคับใช้วันที่ ๑ ก.ค. ๖๕ (จากเดิมวันที่ ๑ ม.ค ๖๕)[9] เพื่อลดอุปสรรคให้ผู้ประกอบการของ สอ. ให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของปัจจัยวิกฤตโควิดและปัญหาการปรับตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี National Farmers’ Union (NFU) และสหพันธ์อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Drink Federation) มองว่า การที่ สอ. ขยายช่วง grace period ดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนสินค้าวางจำหน่ายแต่จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการของ EU
๔. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๔.๑ ข้อมูลจากองค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) และ บ. Sensormatic Solutions ซึ่งเป็นบริษัทด้านข้อมูลเกี่ยวกับภาคธุรกิจค้าปลีก ระบุว่า จำนวนผู้เข้าใช้บริการจับจ่ายใช้สอยที่ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ของ สอ. ในเดือน ส.ค. ๖๔ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. คิดเป็นร้อยละ ๑๐ และถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นของวิกฤตโควิด ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากการท่องเที่ยวภายใน ปท. และจำนวนผู้ที่เดินทางไปทำงานที่อาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี สถิติโดยรวมข้างต้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี ๖๒ คิดเป็นร้อยละ ๑๘ ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายในระยะยาวที่ร้านค้าปลีกของ สอ. อาจต้องประสบโดยเฉพาะร้านค้า
ในกรุงลอนดอนที่มีจำนวนผู้สัญจรไปมาและเข้าใช้บริการต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงร้อยละ ๓๐ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองและภูมิภาคอื่นของ สอ.[10]
๔.๒ รายงานของ ONS[11] ระบุว่า ศก. สอ. ขยายตัวเพียงร้อยละ ๐.๑ ในเดือน ก.ค. ๖๔ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ทำให้ ศก. สอ. ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๒.๑ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ศก. สอ. ชะลอตัวมาจากการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากมาตรการกักตนเองกรณีได้รับการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชัน NHS COVID-19 (pingdemic) รวมถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนจากการที่อุตสาหกรรมก่อสร้างปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ ๔ ติดต่อกัน (ล่าสุดลดลงในอัตราร้อยละ ๑.๖) เนื่องจากผลกระทบจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง กอปรกับราคาวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจบริการแบบที่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับลูกค้ายังชะลอตัวลงจากความหวาดกลัวกับเชื้อไวรัสที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวในช่วงเดือน ก.ค. ได้แก่ การเปิดทำการของศูนย์ขุดเจาะน้ำมันที่ช่วยกระตุ้นผลผลิตของ สอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒ และการเปิดให้บริการของภาคธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ เช่น สวนสนุก และเทศกาลดนตรีและศิลปะต่าง ๆ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการออกจากล็อกดาวน์โดยมีการขยายตัวร้อยละ ๙
๔.๓ รายงานอีกฉบับของ ONS[12] ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้ด้านราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Price Index – CPI) ซึ่งเป็นการวัดระดับอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือน ส.ค. ๖๓ - ส.ค. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๓.๒ จากร้อยละ ๒ ในเดือน ก.ค. ๖๔ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยมีปัจจัยจากการปรับขึ้นราคาในส่วนของการบริการขนส่งและน้ำมันเชื้อเพลิงอาหารและแอลกอฮอล์ ร้านอาหารและโรงแรม บ้านพักที่อยู่อาศัย รวมถึงกิจกรรมด้านศิลปะและสันทนาการซึ่งมีปัจจัยจากการออกจากล็อกดาวน์ทำให้ปริมาณอุปสงค์มีมากเกินกว่าปริมาณอุปทาน กอปรกับปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยวิกฤต
โควิดและ Brexit ทั้งนี้ ONS มองว่า CPI ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวเท่านั้นและคาดว่าจะปรับลดลงในอนาคตในขณะที่ธนาคารกลาง สอ. (Bank of England – BoE) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ ๔ ภายในปีนี้
๕. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
ข้อมูล ศก. สอ. ในช่วงครึ่งเดือนแรกของ ก.ย. ๖๔ สะท้อนแนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าและการบริการต่าง ๆ ใน สอ. ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดแรงงานและสถานการณ์ติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังจากวิกฤตโควิดเริ่มคลายตัวลงและมาตรการช่วยเหลือในช่วงการปรับตัวหลัง Brexit ทยอยหมดลงตามลำดับ โดยข้อมูลจาก บ. Kantar[13] ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจค้าปลีก ระบุว่า ราคาสินค้าใน สอ. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว และจากการสำรวจพบว่าสินค้าอาหารและของใช้ในบ้านมีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ สภาวะ ศก. ในขณะนี้ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น แนวโน้มดังกล่าวจึงน่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของไทยที่มีคุณภาพและราคาไม่สูงมากนักซึ่งสามารถเป็นทางเลืือกให้แก่ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคใน สอ. ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยยังต้องติดตามสถานการณ์ของภาคการขนส่ง รปท. ที่มีการปรับตัวด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าทางเรือที่ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมทั้ง สอ. และปัญหาการขาดแคลน พนง. ขับรถ HGV ใน สอ. ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งในการบรรเทาปัญหา ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรต้องหาหนทางบริหารต้นทุนด้านการขนส่งเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ใน สอ. ต่อไป
[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-58484454
[2] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/internationaltrade/articles/uktradingpartnersananalysisoftraderelationships/2020
[3] https://www.bbc.co.uk/news/business-58582860
[4]https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/articles/hospitalitybusinessesaremostlikelytobestrugglingtofillvacancies/2021-09-16
[5] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/august2021
[6] https://www.bbc.co.uk/news/business-58481326
[7] https://www.gov.uk/government/publications/health-and-social-care-levy/health-and-social-care-levy#general-description-of-the-measure
[8] https://www.gov.uk/government/news/government-takes-further-action-to-tackle-hgv-driver-shortage
[9] https://www.gov.uk/government/news/government-sets-out-pragmatic-new-timetable-for-introducing-border-controls
[10] https://www.ft.com/content/15d4a2d0-eaa5-4cf8-bd04-fcb7a34c04b7
[11]https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/july2021
[12]https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/august2021
[13]https://www.kantar.com/