สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 มี.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 มี.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 เม.ย. 2565

| 8,039 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ ธุรกิจออนไลน์ บ. Ocado ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ของ สอ. รายงานว่า ยอดขายของบริษัทในช่วงสามเดือน (ธ.ค. ๖๔ - ก.พ. ๖๕) ปรับตัวลดลงร้อยละ ๕.๗ มาอยู่ที่ ๕๗๔.๗ ล้านปอนด์ โดยยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้งลดลงร้อยละ ๑๕ ซึ่งมีปัจจัยจากการยกเลิกมาตรการควบคุมเกี่ยวกับโควิด-๑๙ ทำให้พฤติกรรมการดำเนินชีวิตนอกบ้านและการใช้จ่ายของ ปชช. ส่วนใหญ่กลับมาใกล้เคียงกับในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ มากขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทให้ข้อมูลว่ายอดขายในช่วงดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๓๑.๗ เนื่องจากมีจำนวนลูกค้ารายใหม่ที่ยังนิยมจับจ่ายผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ บ. Deliveroo รายงานว่า ในปี ๖๔ บริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า ๒๙๘ ล้านปอนด์ (เทียบกับปี ๖๓ ที่บริษัทขาดทุนมูลค่า ๒๑๓ ล้านปอนด์) โดยเป็นผลจากการลงทุนในด้านการตลาดและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อรักษากระแสของตลาดและผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาจากช่วงการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะมียอดการสั่งอาหารใน สอ. เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ ๗๒ ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่วิเคราะห์ว่าวิกฤตค่าครองชีพใน สอ. ที่เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาสงครามในยูเครนที่มีต่อการฟื้นตัวของ ศก. ในภาพรวม น่าจะทำให้ ปชช. ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นในปีนี้ จึงยากแก่การคาดการณ์ยอดจำหน่ายและการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่มักเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวก[1]
   ๑.๒ ธนาคาร HSBC เป็นธนาคารรายล่าสุดที่ประกาศแผนปิดสาขาจำนวน ๖๙ แห่ง จากทั้งหมด ๕๑๐ แห่งใน สอ. ภายในสิ้นปีนี้เนื่องจากผู้ใช้บริการที่ธนาคารสาขาต่าง ๆ มีจำนวนลดลงประมาณร้อยละ ๕๐ นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ อีกทั้งวิกฤตโควิด-๑๙ เป็นปัจจัยเร่งให้ ปชช. จำนวนมากเปลี่ยนมาทำธุรกรรมออนไลน์แทนการเดินทางไปใช้บริการที่สาขาและชำระเงินผ่านระบบ contactless แทนการใช้เงินสด โดยภาคธนาคารใน สอ. มีแนวโน้มลดจำนวนสาขาอย่างถาวรเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าดังกล่าวและสนับสนุนโครงการ BankHub ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง บ. Post Office และธนาคารของ สอ. เพื่อเป็นจุดบริการร่วมสำหรับธุรกรรมการเงินในที่ทำการไปรษณีย์ โดยระยะแรกจะเปิดทำการจำนวน ๕ แห่งภายในปีนี้ ได้แก่ ในกรุงลอนดอน / Devon / North Yorkshire / Leicestershire ในอังกฤษ และ Angus ในแคว้นสกอตแลนด์ ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS) พบว่า จำนวนสาขาธนาคารใน สอ. ในช่วงปี ๒๕๕๕ - ๒๕๖๔ ลดลงจากจำนวนมากกว่า ๑๑,๓๐๐ แห่ง มาอยู่ที่จำนวนต่ำกว่า ๗,๐๐๐ แห่ง[2]
   ๑.๓ การค้า รปท. Office for Budget Responsibility (OBR)[3] เปิดเผยผลการสำรวจปริมาณการส่งออกของ ปท. กลุ่ม OECD ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี ๖๔ ที่สะท้อนการฟื้นตัวขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดคิดเป็นร้อยละ ๓ ในขณะที่ปริมาณการส่งออกของ สอ. ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงร้อยละ ๑๒ ทำให้ GDP ที่เป็นสัดส่วนจากการนำเข้าส่งออกของ สอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑๒ นับตั้งแต่ปี ๖๒ หรือลดลง ๒.๕ เท่าเมื่อเทียบกับ ปท. อื่นในกลุ่ม G7 โดย OBR เห็นว่าปัจจัยจากขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารด้านศุลกากรที่ซับซ้อนและต้นทุนในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลัง Brexit มีส่วนทำให้ สอ. เสียโอกาสทางการค้า รปท. นอกจากนี้ ยังเห็นว่าความสำเร็จในการลงนาม คตล. การค้าเสรีของ สอ. กับ ปท. ต่าง ๆ หลัง Brexit จนถึงปัจจุบันในระยะสั้นยังไม่สามารถทดแทนมูลค่าทางการค้าระหว่าง สอ. และ EU อย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้ OBR ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางการค้าที่แท้จริงจาก Brexit
   ๑.๔ Brexit บ. EY (ที่ปรึกษาการตลาด) รายงานว่า ปัจจัย Brexit ทำให้สถาบันการเงินโยกย้ายตำแหน่งงานจาก สอ. ไปยัง EU มากกว่า ๗,๐๐๐ ตำแหน่ง แม้จะมีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แต่มีนัยสะท้อนว่า สอ. สูญเสียความน่าสนใจในการเป็นแหล่งการบริการด้านเงินทุนในยุโรป โดยเมืองใน EU ที่มีการโยกย้ายไปทำงานรวมถึงมีการเปิด สนง. ใหม่มากที่สุด ได้แก่ ดับลิน ลักเซมเบิร์ก แฟรงก์เฟิร์ตและปารีส ในขณะที่ปารีสเป็นเมืองที่ดึงตำแหน่งงานจากกรุงลอนดอนไปมากที่สุด ทั้งนี้ การโยกย้ายตำแหน่งงานออกจาก สอ. มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคตเนื่องจากความไม่แน่นอนใน คสพ. ทาง ศก. ระหว่าง สอ. กับ EU ปัญหาผลกระทบจากสงครามในยูเครน และการที่ธนาคารกลาง EU มีกฎระเบียบในการควบคุมตำแหน่งงานในการตั้ง สนง. สาขาของสถาบันการเงินใน EU เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบการใน EU ที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ในส่วนการโยกย้ายสินทรัพย์จากกรุงลอนดอนไปยัง EU ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณมูลค่า ๑.๓ ล้านล้านปอนด์[4]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ ในห้วงวันที่ ๒๑ - ๒๒ มี.ค. ๖๕ นาง Anne-Marie Trevelyan รมว. ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการหารือกับนาง Katherine Tai ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ใน U.S./UK Dialogues on the Future of Atlantic Trade วาระแรก โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ SMEs ระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน การพัฒนาระบบศุลกากรแบบดิจิทัล การคุ้มครองสิทธิแรงงานและ สวล. เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ มี.ค. ๖๕ นาง Trevelyan และนาง Gina Raimondo รมว. การค้าของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงแลกเปลี่ยนการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจาก สอ. ไปยังสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มิ.ย. ๖๕ ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีมากกว่า ๘๐,๐๐๐ ตำแหน่งทั่ว สอ. ด้วย ในขณะที่ สอ. จะยกเลิกมาตรการตอบโต้สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น วิสกี กางเกงยีนส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จในการลดปัญหาความตึงเครียดที่ยืดเยื้อมานานและเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิด คตล. การค้าเสรีระหว่าง สอ. - สหรัฐฯ ในอนาคตด้วย[5]
    ๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. ๖๕ นาย Rishi Sunak รมว.กค.สอ. ประกาศแผน งปม. ประจำครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๕ (Spring Statement 2022)[6] โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพด้วยมาตรการทางภาษี และช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากทั้งภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ดังนี้
          ๑) ภาษี – ปรับขึ้นเพดานเงินเดือนที่ต้องชำระภาษีประกันสังคม (National Insurance Contributions – NICs) จากเดิมเริ่มเก็บภาษี NI สำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ ๙,๘๘๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป เป็นตั้งแต่ ๑๒,๕๗๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือน ก.ค. ๖๕ เป็นต้นไป / ปรับลดอัตราการเก็บภาษีเงินได้จากร้อยละ ๒๐ เป็นร้อยละ ๑๙ ในปี ๒๕๖๗ ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ ๑๖ ปี / เพิ่มเงินช่วยเหลือนายจ้างโดยลดหย่อนภาษี NICs สูงสุดไม่เกิน๕,๐๐๐ ปอนด์ต่อปี
          ๒) พลังงาน – ปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินและดีเซลในอัตรา ๕ เพนซ์ต่อลิตร เป็นเวลา ๑ ปีโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มี.ค. ๖๕ เป็นต้นไป / ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเป็นเวลา ๕ ปี เช่น แผงโซลาร์เซลล์และฉนวนกันความร้อน (insulation) เป็นต้น
          ๓) การช่วยเหลือภาคครัวเรือน – เพิ่มเงินช่วยเหลือให้แก่หน่วยงานท้องถิ่นของ สอ. จำนวน ๕๐๐ ล้านปอนด์ (รวม ๑ พันล้านปอนด์) ภายใต้โครงการ Household Support Fund ตั้งแต่เดือน เม.ย. ๖๕ (นอกเหนือจากที่จัดสรรให้แล้ว ๕๐๐ ล้านปอนด์สำหรับช่วงเดือน ต.ค. ๖๔ - มี.ค. ๖๕)
          อนึ่ง การประกาศนโยบายข้างต้นเกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ใน สอ. ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้ รบ. สอ. มีมาตรการช่วยเหลือที่มีผลทันทีในการลดรายจ่ายครัวเรือนเนื่องจากต้นทุนพลังงานจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๕๐ ในเดือน เม.ย. ศกนี้ กระแสตอบรับส่วนใหญ่จึงมองว่ามาตรการข้างต้นไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อ ปชช. และนำไปสู่กระแสความไม่พอใจในการบริหารราชการของ รบ. สอ. และต่อตัว รมว. กค. ที่ปัจจุบันมีข่าวว่าภริยามีสถานะเป็นผู้พำนักไม่ถาวร (non-domicile) ใน สอ. เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องจ่ายภาษี[7] ในขณะที่ช่วงเวลานี้ภาคการเมือง สอ. กำลังเร่งหาเสียงเพื่อเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน พ.ค. ๖๕

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ ศก. สอ. โดยรวมยังทรงตัวได้ดีโดยได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงวิกฤตโควิดที่ต่อเนื่องมากว่า ๒ ปี กอปรกับวิกฤตสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงใด ๆ ทำให้ ศก. สอ. ในภาพรวมสามารถเติบโตได้มากกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้วประมาณร้อยละ ๐.๘ ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว[8] อีกทั้งได้รับการคาดหมายว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ด้วยแม้ว่าจะประสบกับสภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูง โดยนาย Sunak รมว. กค. กล่าวในรัฐสภา สอ. ถึงภาพรวมทาง ศก. สอ. โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ OBR สรุปสาระสำคัญได้ว่า ศก. สอ. มีแนวโน้มเติบโตในอัตราร้อยละ ๓.๘ ในปีนี้ (ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ที่ร้อยละ ๖) และจะเติบโตร้อยละ ๑ - ๒ ในช่วง ๓ ปีข้างหน้า ในขณะที่สถานการณ์หนี้สาธารณะของ รบ. สอ. จะทยอยปรับตัวลดลงหลังจากนี้ (จากร้อยละ ๘๓.๕ ของ GDP ของ สอ. ในปีนี้เหลือร้อยละ ๗๙.๘ ของ GDP ในปี ๖๙)[9]           ๓.๒ แนวโน้มปัญหาสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อจะเป็นปัจจัยชะลอการเติบโตทาง ศก. ของ สอ. ในระยะยาวอีกปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากภาวะเงินเฟ้อเนื่องจากส่งผลต่อต้นทุนพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะยาวด้วย โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าทั้งสองปัจจัยอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อใน สอ. เพิ่มขึ้นเป็นเลข ๒ หลักได้ในปีนี้ จึงยิ่งสร้างข้อจำกัดในการใช้จ่ายและในการรักษามาตรฐานการดำรงชีพของผู้บริโภคใน สอ. มากขึ้น และเมื่อ ปชช. มีแนวโน้มลดการจับจ่ายใช้สอยลง จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค้าปลีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลของ ONS[10] ระบุว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมเริ่มเข้าสู่ขาลงโดยในเดือน ก.พ. ๖๕ ลดลงร้อยละ ๐.๓ (เทียบกับยอดขายในเดือน ม.ค. ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๙) ในขณะที่สัดส่วนยอดขายออนไลน์เริ่มลดลงเช่นกัน (ลดลงร้อยละ ๔.๘ มาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๓.๒ ของรายจ่ายทั้งหมด)
           อนึ่ง รบ. สอ. ตระหนักว่า ปัจจัยจากการพึ่งพาพลังงานในตลาดโลกส่งผลให้ค่าครองชีพใน สอ. ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามอย่างรุนแรง จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน (British Energy Security Strategy) เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการคลี่คลายปัญหา ศก. ในปัจจุบัน อีกทั้งมีนัยสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซียเพื่อต่อต้านการก่อสงครามในยูเครนด้วย[11] โดย สอ. จะเน้นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ตลอดจนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐



[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-60777497
[2] https://www.ft.com/content/65d26f6c-7730-4729-95d1-a3ddcee17637
[3] https://obr.uk/box/the-latest-evidence-on-the-impact-of-brexit-on-uk-trade/
[4] https://www.theguardian.com/business/2022/mar/29/brexit-finance-jobs-london-eu-ey-paris-frankfurt-dublin
[5] https://www.gov.uk/government/news/uk-and-us-resolve-steel-and-aluminium-tariffs-issue
[6] https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/1062708/Spring_Statement_2022_Print.pdf
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-61041926
[8] https://www.niesr.ac.uk/publications/uk-economy-shrugs-omicron?type=gdp-trackers
[9] https://www.bbc.co.uk/news/business-60849054
[10] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/february2022
[11] https://www.gov.uk/government/publications/british-energy-security-strategy