สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ก.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ก.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ส.ค. 2565

| 1,417 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ ธุรกิจค้าปลีก บ. Unilever ซึ่งเป็นผู้ผลิตโภคภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและใน สอ. ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงไตรมาสที่ ๒ ของปีนี้เฉลี่ยร้อยละ ๑๑.๒ โดยมีปัจจัยจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าครองชีพที่สูงเป็นประวัติการณ์ บริษัทมองว่าการปรับขึ้นราคาดังกล่าวสะท้อนปัญหาค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่โลกกำลังเผชิญอยู่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้าของปีนี้ด้วย ถึงแม้ว่าในระยะสั้นบริษัทจะยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไว้บางส่วนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทพบว่าปริมาณการขายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้โดยรวมลดลงประมาณร้อยละ ๒.๑ แต่ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๘.๑ (เนื่องจากราคาต่อหน่วยสูงขึ้น) พร้อมกับมีกำไรเพิ่มขึ้นก่อนหักภาษีร้อยละ ๔.๑ (ประมาณ ๕ พันล้านยูโร) โดยบริษัทประเมินว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้เกิดจากกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพมากกว่าการเปลี่ยนไปซื้อผลิตภัณฑ์ของห้าง (own-label products) ที่ราคาถูกกว่า และเป็นผลจากการเพิ่มงบประมาณเพื่อการโฆษณาทางการตลาดและการวิจัยผลิตภัณฑ์ในระยะนี้ด้วย[1]
    ๑.๒ ธนาคาร/สินเชื่อ ข้อมูลของธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England – BoE)[2] พบว่า หนี้บัตรเครดิตของภาคครัวเรือนใน สอ. ในเดือน มิ.ย. ๖๕ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๕ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วที่สุดในรอบ ๑๗ ปี นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มของการออมทรัพย์ที่ลดลงด้วยโดยจำนวนเงินฝากออมทรัพย์ในธนาคารต่าง ๆ ของ สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยรวมเพียง ๑.๕ พันล้านปอนด์ในเดือน มิ.ย. ๖๕ ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ที่มีจำนวนเงินฝากเพิ่มขึ้น ๕.๒ พันล้านปอนด์ (ในปี ๖๒ จำนวนเงินฝากในธนาคารของ สอ. เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคิดเป็น ๔.๖ พันล้านปอนด์ต่อเดือน) โดยมีปัจจัยจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๔ ซึ่งสูงเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนที่ร้อยละ ๔.๓ และกำลังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภาคครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจทำให้ สอ. มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยในเร็ววันนี้[3]
    ๑.๓ การบิน British Airways (BA) ประกาศงดจำหน่ายบัตรโดยสารชั่วคราวสำหรับเที่ยวบินระยะสั้น (short-haul flight) จากสนามบิน Heathrow เช่น เที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินจาก สอ. ไปยุโรป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒ - ๑๕ ส.ค. ๖๕ สาเหตุมาจากมาตรการกำหนดเพดานจำนวนผู้โดยสารต่อวันของสนามบิน Heathrow เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะ พนง. ในส่วนภาคพื้นดิน อย่างไรก็ดี บริษัท IAG ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบิน BA ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมการบินยังฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ จนสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-๑๙ โดยมีผลกำไรก่อนหักภาษีประมาณ ๒๔๕ ล้านปอนด์ในไตรมาสที่ ๒ (เทียบกับการขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ๘๐๙ ล้านปอนด์) แต่ในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของสนามบิน Heathrow ซึ่งเป็นฐานการบินหลักของ BA โดยปัจจุบันจนถึง ตค. ๖๕ BA ดำเนินงานได้เพียงร้อยละ ๗๕ ของขีดความสามารถที่มีอยู่[4]
    ๑.๔ Brexit ข้อมูลจากการสำรวจของ Make UK ซึ่งเป็นสมาคมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของ สอ. พบว่า EU ยังคงเป็นตลาดหลักอันดับหนึ่งสำหรับภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของ สอ. ในยุคหลัง Brexit แม้กระทั่งในพื้นที่ที่สนับสนุน Brexit เช่น แคว้นเวลส์ ภาค ตอ. เฉียงเหนือและภาคกลางของอังกฤษก็มีการส่งออกไปยัง EU มากขึ้นในช่วงปี ๖๓ - ๖๔ โดยแคว้นไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งคะแนนเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน Brexit) มีการส่งออกสินค้าไป EU มากที่สุด (ร้อยละ ๖๓) รองลงมาเป็นแคว้นเวลส์ซึ่งส่งออกไปยัง EU ร้อยละ ๖๐ สำหรับพื้นที่ในอังกฤษพบว่า ภาค ตอ. เฉียงเหนือของอังกฤษส่งออกสินค้าไป EU เพิ่มจากร้อยละ ๕๖ ในปี ๖๓ เป็นร้อยละ ๕๘ ในปี ๖๔ และภาคกลางของอังกฤษเพิ่มจากร้อยละ ๔๘ ในปี ๖๓ เป็นร้อยละ ๕๑ ในปี ๖๔ ซึ่งสะท้อนถึงการพึ่งพาตลาด EU ของภาคการส่งออก สอ. อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่า สอ. จะออกจาก EU แล้วก็ตาม โดย Make UK ประเมินแนวโน้มดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากระยะทางที่ใกล้กันระหว่าง สอ. กับ EU และเชื่อว่า EU จะยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของ สอ. ต่อไป ทั้งนี้ Make UK ได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ตระหนักถึงข้อเท็จจริงในความสำคัญของตลาด EU และพยายามคลี่คลายปัญหาการค้ากับ EU โดยเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้น ศก. สอ. ในภาพรวม[5]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    - เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รบ. สอ. ประกาศมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมในโครงการ Help for Households[6] มูลค่า ๓.๗ หมื่นล้านปอนด์ โดยเมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค. ๖๕ รบ. สอ. ได้ทำข้อตกลงกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทชั้นนำของ สอ. เพื่อมอบส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการแก่ภาคครัวเรือนของ สอ. ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนไปจนถึงปลายปีนี้ เช่น โครงการ “Kids eat for £1” ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Asda / โครงการ “Feed your family for a fiver” ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s / โปรโมชันให้เด็กเข้าชมการแสดงละครเวที (West End Show) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายพร้อมกับผู้ใหญ่ที่จ่ายราคาเต็มตลอดเดือน ส.ค. ศกนี้ / โครงการค่าบริการโทรศัพท์มือถือราคาพิเศษ ๑๐ ปอนด์ต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือว่างงานของ บ. Vodafone เป็นต้น ก่อนหน้านี้ รบ. สอ. ได้ประกาศมาตรการให้เงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนภายใต้โครงการดังกล่าวแล้ว เช่น การลดอัตราภาษีสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและปานกลาง และการให้เงินส่วนลดค่าธรรมเนียมพลังงานจำนวน ๔๐๐ ปอนด์ต่อครัวเรือน เป็นต้น ทั้งนี้ รบ. สอ. ใช้โอกาสนี้เปิดเว็บไซต์ใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิการได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ปชช. ด้วย (https://costoflivingsupport.campaign.gov.uk/)

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    
๓.๑ สภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพใน สอ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ ๙.๔ ในเดือน มิ.ย. ๖๕ (สูงที่สุดใน ปท. กลุ่ม G7 โดยเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ ๘.๒ และฝรั่งเศสร้อยละ ๖.๕) ส่งผลให้ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลงตามลำดับ โดยข้อมูลของ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics – ONS) พบว่ายอดขายเสื้อผ้าในเดือน มิ.ย. ๖๕ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๔.๗ ในขณะที่ยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ ๔.๓[7] ในขณะที่ บ. Kantar คาดการณ์ว่าปัญหาค่าครองชีพดังกล่าวจะทำให้ภาคครัวเรือนรับภาระค่าอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๔๕๔ ปอนด์ต่อปี โดยการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มในเดือน ต.ค. ศกนี้ จะยิ่งส่งผลซ้ำเติมให้อัตราค่าครองชีพปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๑๑ ได้ภายในปีนี้[8] ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวทำให้มีกระแสข่าวว่า ธนาคารกลาง สอ. (Bank of England – BoE) กำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๐.๕ จากปัจจุบันร้อยละ ๑.๒๕ เป็นร้อยละ ๑.๗๕ ในวาระ กปช. ครั้งต่อไปในเดือน ส.ค. ๖๕ เพื่อพยายามชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทาง ศก.[9]
    ๓.๒ IMF[10] ปรับรายงานประจำเดือน ก.ค. ๖๕ การประเมินการเติบโตทาง ศก. ของ สอ. สำหรับปี ๖๖ ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๐.๕ (จากเดิมประเมินไว้ที่ร้อยละ ๑.๔ ในเดือน เม.ย.) และคาดว่าจะต่ำที่สุดในกลุ่ม ปท.  G7 นอกจากนี้ กลุ่ม G7 โดยรวมยังมีแนวโน้มประสบปัญหาภาวะ ศก. ถดถอยเพิ่มขึ้นสี่เท่าตัวจากปัญหาเงินเฟ้อด้วย จึงประเมินว่า ปท. ต่าง ๆ ควรหันมาแก้ไขสถานการณ์ด้วยนโยบายทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้นโดยเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงในระยะยาว ทั้งนี้ IMF ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครตำแหน่ง นรม. สอ. คนใหม่ที่ต่างมุ่งเน้นการปรับลดอัตราภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจ (corporate tax) ซึ่งอาจส่งสัญญาณผิดให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นเกินความจำเป็นและอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อแย่ลงกว่าเดิม ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ศก. สอ. เติบโตช้ากว่า ปท. คู่แข่งหลายรายนับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมาโดยมีปัจจัยจากการขาดการลงทุนโดยเฉพาะในด้านทักษะวิชาชีพและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคทำให้ค่าแรงและผลผลิตทาง ศก. อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัจจัย Brexit และวิกฤตโควิด-๑๙ ยังซ้ำเติมให้การลงทุนของภาคธุรกิจใน สอ. ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๙ ด้วย โดย IMF เสนอแนะให้ รบ. สอ. เพิ่มการลงทุนแทนการลดภาษีเพื่อแก้ไขปัญหา ศก. ในปัจจุบันอย่างยั่งยืน
    ๓.๓ ภาวะเงินเฟ้อใน สอ. ที่สูงมากและมีแนวโน้มยืดเยื้อส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้บริโภค
ที่ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าโดยมีแนวโน้มหันมาซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่าแต่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมากขึ้นเพื่อประหยัดรายจ่าย โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นของห้างเอง (own-label products) โดยเป็นการจ้างผลิตจากผู้ผลิตโดยตรงซึ่งมีต้นทุนการผลิตและการตลาดถูกกว่า จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตสินค้าไทยที่จะสามารถรองรับอุปสงค์ในส่วนดังกล่าวได้หากมีการย้ายแหล่งผลิตหรือหาแหล่งผลิตใหม่โดยผู้ประกอบการ สอ. รวมถึงโอกาสจากความเป็นไปได้ที่ รบ. สอ. อาจพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจำเป็นชั่วคราวเพื่อบรรเทาค่าครองชีพต่อไปด้วย ผู้ประกอบการไทยที่สนใจควรติดตามสถานการณ์เหล่านี้ใน สอ. อย่างใกล้ชิดและศึกษาช่องทางการขนส่งมายัง สอ. ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมและพิจารณาช่องทาง/โอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าของตน[11]


[1] https://www.thetimes.co.uk/article/unilever-puts-up-prices-by-11-per-cent-to-cover-for-inflation-dcvbllp0h
[2] https://www.bankofengland.co.uk/statistics/money-and-credit/2022/june-2022
[3] https://www.bbc.co.uk/news/business-62344655
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-62344654
[5] https://www.theguardian.com/politics/2022/jul/17/pro-brexit-uk-regions-more-dependent-on-eu-for-exports-report-finds
[6] https://www.gov.uk/government/news/government-and-leading-businesses-join-forces-to-help-households-with-cost-of-living
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-62262138
[8] https://www.bbc.co.uk/news/business-62233571
[9] https://www.bbc.co.uk/news/business-62223722
[10] https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2022/07/26/world-economic-outlook-update-july-2022
[11] https://www.thaitradelondon.com/category/category/news-reports/