วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.ค. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ ภาคการบริการ (Hospitality) ข้อมูลจาก บ. Altus Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า จำนวนผับที่ยังเปิดดำเนินธุรกิจในอังกฤษและเวลส์ล่าสุดในเดือน มิ.ย. ๖๕ มีทั้งหมด ๓๙,๙๗๐ ร้าน ซึ่งลดลงมากกว่า ๗,๐๐๐ ร้านเมื่อเทียบกับสถิติปี ๒๕๕๕ และถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ ๑๗ ปี ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจ hospitality ของ สอ. ยังคงประสบปัญหาจากทั้งการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ และการมีปัจจัยซ้ำเติมจากค่าครองชีพและมาตรการภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบว่าแนวโน้มการประกอบธุรกิจร้านผับบาร์ลดลงต่อเนื่องโดยในปี ๖๔ มีผับในอังกฤษและเวลส์ที่ปิดถาวรจำนวน ๔๐๐ ร้าน และในช่วงต้นปี ๖๕ ที่ผ่านมาอีกประมาณ ๒๐๐ ร้าน โดยภาคกลางของอังกฤษถือเป็นภูมิภาคที่มีผับปิดถาวรมากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี ๖๕ (จำนวน ๒๘ ร้าน) รองลงมาเป็นกรุงลอนดอนและภาค ตอ. ของอังกฤษ (จำนวน ๒๔ ร้าน) ในขณะเดียวกันข้อมูลการวิจัยร่วมที่จัดทำโดยสมาคม British Beer and Pub Association (BBA), British Institute of Innkeeping และสมาคม UK Hospitality พบว่า มีธุรกิจในภาคhospitality เพียงร้อยละ ๓๗ เท่านั้นที่ยังสามารถทำผลกำไรได้ในปัจจุบัน และส่วนใหญ่อ้างถึงผลกระทบจากวิกฤตต้นทุนด้านพลังงานและปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก[1]
๑.๒ โลจิสติกส์ บ. DHL ประกาศแผนขยายการลงทุนในส่วนของ DHL Parcel UK มูลค่า ๔๘๒ ล้านปอนด์ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานและรองรับอุปสงค์ด้าน e-commerce ใน สอ. โดยจะมีการเปิดจุดรับพัสดุ (collection) ใหม่จำนวน ๑๐ แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุ (delivery depot) จำนวน ๒๐ แห่ง และจ้าง พนง. เพิ่มรวมประมาณ ๓,๕๐๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนจำนวนนี้จะใช้ในการสร้างศูนย์รับส่งพัสดุขนาดใหญ่ใกล้กับสนามบิน Coventry เรียกว่า SEGRO Park Coventry Gateway ซึ่งจะสามารถรองรับพัสดุได้มากถึง ๕๐๐,๐๐๐ ชิ้นต่อวัน (ใหญ่ที่สุดใน สอ.) และคาดว่าจะมีการจ้างงานในส่วนนี้เพิ่มกว่า ๖๐๐ ตำแหน่งในระยะยาว นอกจากนี้ บ. DHL ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ต้นปี ๖๓ เป็นต้นมา บริษัทให้บริการจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๐ ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ อีกทั้งมองว่า e-commerce ยังคงเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในอนาคตและสอดคล้องกับการปรับตัวของธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงภาวะค่าครองชีพและต้นทุนธุรกิจสูง[2]
๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก ข้อมูลจากสมาคมการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) และ บ. KPMG UK พบว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมในเดือน มิ.ย. ๖๕ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๑ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและเป็นการลดลง ๓ เดือนติดต่อกัน โดยยอดขายออนไลน์ลดลงร้อยละ ๙ มีปัจจัยจากการที่ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายและเลือกซื้อสินค้าราคาประหยัดมากขึ้นจากสภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะที่ยอดการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลงร้อยละ ๓.๓ โดยประเภทสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์[3] ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการใช้บัตรของ บ. Barclaycard ที่รายงานว่ายอดการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปด้วยบัตรเดบิต/บัตรเครดิตในเดือน มิ.ย. ๖๕ ลดลงมากกว่าร้อยละ ๕ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยล่าสุดร้อยละ ๙๑ ของผู้ถือบัตรมีความกังวลต่อผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ยอดการใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิง การท่องเที่ยว และการรับประทานอาหาร/ดื่มนอกบ้านยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๖ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดฤดูร้อน[4]
๑.๔ การบิน ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สนามบิน Heathrow รวมถึงสายการบินหลายรายของ สอ. ที่ลงจอดที่สนามบิน Heathrow ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากสืบเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะ พนง. ในส่วนภาคพื้นดิน (ground handling team) ในขณะที่ปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวตามฤดูกาลท่องเที่ยวทำให้ล่าสุด บ. Heathrow ได้ประกาศจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการที่สนามบินในช่วงฤดูร้อนเหลือเพียง ๑๐๐,๐๐๐ คนต่อวัน (ปัจจุบันมีประมาณ ๑๐๔,๐๐๐ คนต่อวัน ซึ่งแต่เดิมเคยรองรับผู้ใช้บริการได้เฉลี่ย ๒๑๙,๐๐๐ คนต่อวันในช่วงก่อนวิกฤต โควิดเมื่อปี ๖๓) มีผลบังคับใช้ทันทีจนถึงวันที่ ๑๑ ก.ย. ๖๕ เพื่อพยายามบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยสนามบิน Heathrow ได้ขอให้สายการบินทั้งหมดที่ใช้บริการลงจอดที่สนามบิน Heathrow ยกเลิกการจำหน่ายบัตรโดยสารในช่วงฤดูร้อนนี้ที่เกินกว่าขีดความสามารถในการให้บริการของสนามบินเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้โดยสารหากมีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างกระทันหันเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา[5] ทั้งนี้ สายการบินหลายรายไม่เห็นด้วย เช่น Emirates ที่ปฏิเสธคำขอของสนามบิน Heathrow โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ทันการณ์ภายใน ๓๖ ชม. และจะยังคงทำการบินตามกำหนดที่มีอยู่ ในขณะที่ British Airways และ Virgin Atlantic แสดงความผิดหวังกับการตัดสินใจของสนามบิน Heathrow แต่พร้อมปฏิบัติตามเพื่อลดความโกลาหลด้านการบิน[6]
๑.๕ การจ้างงาน อัตราการจ้างงานใน สอ. ยังคงทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลของภาวะ ศก. หดตัวเนื่องจากยังมีความต้องการจ้างงานจากผู้ประกอบการจำนวนมากหลัง ศก. เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤต โควิด-๑๙ และการขาดแคลนแรงงาน ข้อมูลของ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office of National Statistics – ONS) พบว่าอัตราการจ้างงานในไตรมาสที่ ๒ ของปีนี้ (จนถึง พ.ค. ๖๕) ขยายตัวจากไตรมาสที่ ๑ ร้อยละ ๐.๔ โดยการจ้างงานในภาคการขนส่งและการบริการมีสัดส่วนมากที่สุด[7] ล่าสุด บ. Amazon ประกาศแผนจ้างงานเพิ่มจำนวน ๔,๐๐๐ ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ สำหรับการเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมที่เมือง Wakefield และ Knowsley การขยาย สนง. ในกรุงลอนดอนและเมืองแมนเชสเตอร์ และศูนย์เทคโนโลยีในเมืองเอดินบะระและเคมบริดจ์ แผนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีการจ้างงานใน สอ. เพิ่มขึ้นทั้งหมดรวมจำนวน ๗๕,๐๐๐ ตำแหน่ง และกลายเป็นบริษัท ๑ ใน ๑๐ ลำดับแรกที่จ้างงานมากที่สุดใน สอ. โดยบริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์จะสามารถขยายตัวได้อีกครั้งหลังภาวะเงินเฟ้อฟื้นตัวดีขึ้นและการซื้อสินค้าออนไลน์จะเป็นรูปแบบธุรกิจที่ช่วยประหยัดต้นทุนสำหรับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้มากที่สุดในระยะยาว[8]
๑.๖ Brexit ข้อมูลการสำรวจที่จัดทำโดย Imperial College London พบว่า ในปี ๖๔ (๑ ปีหลังจากการสิ้นสุดช่วงเปลี่ยนผ่านของ Brexit) มียาชนิดใหม่ที่ได้รับการรับรองใน สอ. จำนวน ๓๕ ชนิด ซึ่งต่ำกว่าใน EU ที่มีจำนวน ๔๐ ชนิด และสหรัฐฯ จำนวน ๕๒ ชนิด โดยนักวิเคราะห์มองว่าปัจจัย Brexit มีส่วนทำให้บริษัทยาสนใจเข้ามาลงทุนใน สอ. ลดลงเนื่องจากต้นทุนและกระบวนการด้านเอกสารในการขอรับรองที่เพิ่มขึ้นหากจะจำหน่ายในตลาด สอ. และ EU กอปรกับขนาดตลาดของ สอ. มีขนาดเล็กกว่า EU และสหรัฐฯ จึงคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบทบาทของ สอ. ในด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (R&D) ในระดับสากลได้ อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency - MHRA) ของ สอ. เห็นว่าการสำรวจดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลในระยะสั้นและเน้นเกี่ยวกับข้อมูลยาที่ได้รับการรับรองใหม่เพียงเท่านั้น และไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินงานของ MHRA ในด้านการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในส่วนของยาที่เป็นที่ยอมรับแล้ว ทั้งนี้ MHRA ถือเป็นหน่วยงานแรกของโลกที่รับรองวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ของ บ. Pfizer/BioNTech และ บ. AstraZeneca จึงสะท้อนถึงความคล่องตัวและศักยภาพขององค์กรกำกับคุณภาพยาของ สอ. ที่ล้ำหน้ากว่าองค์กรอื่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายความเป็นเลิศด้าน life sciences[9] ของ รบ. สอ. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีน ยา และเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด[10]
๒. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๒.๑ ศก. ของ สอ. ในเดือน พ.ค. ๖๕ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย จากที่เคยหดตัวในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ที่ผ่านมา ในภาพรวมจึงยังไม่ถือว่า สอ. เข้าสู่สภาวะ ศก. ถดถอย (recession) ที่ชัดเจนนัก ข้อมูลของ ONS)[11] ระบุว่าผลผลิตทาง ศก. ของ สอ. ในเดือน พ.ค. ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ ๐.๕ โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากการเพิ่มขึ้นของภาคบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขร้อยละ ๒.๑ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ ๐.๙ โดยเฉพาะด้านการผลิตยา อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องจักร และภาคก่อสร้างร้อยละ ๑.๕ (ขยายตัวเป็นเดือนที่ ๗ ติดต่อกัน) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของระบบห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังมองว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเนื่องจากสถิติภาคการบริการที่แท้จริง (consumer-facing) ในเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๑ โดยเฉพาะ ในภาคธุรกิจค้าปลีกและสันทนาการซึ่งสะท้อนว่าภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลงตามลำดับ นอกจากนี้ การที่หน่วยงานควบคุมราคาพลังงานของ สอ. (Ofgem) ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มอีกครั้งในเดือน ต.ค. ศกนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ศก. สอ. ซบเซาลงอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิต
๒.๒ อัตราเงินเฟ้อใน สอ. ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างภาวะฝืดเคืองแก่ภาคการบริโภคภายในประเทศที่เดิมเป็นกลไกการฟื้นตัว ศก. หลัก โดยประมาณการล่าสุดของ ONS พบว่า Consumer Price Index ในรอบ ๑๒ เดือนที่ผ่านมา (จนถึงเดือน มิ.ย. ๖๕) อยู่ที่ร้อยละ ๙.๔ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๙.๑ ในเดือน พ.ค. ๖๕ พร้อมกับความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อ สอ. จะเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ ๑๒ ได้ในช่วงไตรมาสที่ ๓ หลังการปรับตัวของค่าธรรมเนียมพลังงานรอบใหม่แล้ว[12] ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของสถาบัน Institute of Grocery Distribution (IGD) ที่พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากราคาปลีกสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๕ ในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยผู้บริโภคกว่าร้อยละ ๖๐ เริ่มทบทวนรูปแบบหรือชะลอการใช้จ่ายเพื่อรับมือ กับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว[13] ในขณะที่รายรับของ ปชช. ทั่วไปยังเพิ่มขึ้นไม่สมดุลกัน จึงกลายเป็นแรงกดดันมากขึ้นให้กลุ่มสหภาพแรงงานบริการสาธารณะในหลากหลายอาชีพกำลังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ โดยคาดว่าจะเกิดการประท้วงหยุดงานและผลกระทบต่อมาตรฐานการดำรงชีพในภาพรวมมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป
[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-62031833
[2] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-coventry-warwickshire-62047946
[3] https://www.bbc.co.uk/news/business-62121262
[4] https://www.theguardian.com/business/2022/jul/12/uk-retailers-hit-by-sharp-drop-in-spending-as-inflation-soars
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-62136022
[6] https://news.sky.com/story/flight-chaos-legal-battle-looms-as-emirates-rejects-heathrows-demand-it-cuts-services-12651782
[7] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/employmentintheuk/latest
[8] https://www.ft.com/content/372a363a-39de-4dea-9113-1a062b8d0ce4
[9] https://www.gov.uk/government/news/bold-new-life-sciences-vision-sets-path-for-uk-to-build-on-pandemic-response-and-deliver-life-changing-innovations-to-patients
[10] https://www.theguardian.com/business/2022/jul/14/uk-approved-fewer-new-drugs-eu-us-year-after-brexit-transition
[11] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/may2022
[12] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/june2022
[13] https://www.igd.com/home/article-viewer/t/food-drink-sector-performance-june-2022/i/29892