สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ธ.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ธ.ค. 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,239 view

๑. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ ห้างสรรพสินค้า Debenhams ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่ของ สอ. ที่ดำเนินกิจการมานานถึง ๒๔๒ ปี เป็นห้างรายล่าสุดที่ประกาศนำกิจการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและอาจต้องปิดกิจการทั้งหมดจำนวน ๑๒๔ สาขาทั่ว สอ. ภายในเดือน มี.ค. ๖๔ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ พนง. กว่า ๑๒,๐๐๐ ตำแหน่ง หากไม่สามารถหานักลงทุนเข้าซื้อกิจการได้ทัน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดและแนวโน้มในระยะยาวของผู้บริโภคที่จะนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการเดินห้าง อย่างไรก็ดี ล่าสุด บ. Frasers Group (เจ้าของห้าง House of Fraser) ได้เข้าเจรจากับทางห้างฯ เกี่ยวกับการซื้อกิจการแล้วแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
    ๑.๒ อุตสาหกรรมการบิน สนามบิน Heathrow ประกาศแผนปิด Terminal 4 ต่อไปจนถึงปลายปี ๖๔ เนื่องจากปัจจัยวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อและการล็อกดาวน์รอบที่สองในอังกฤษเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการลดลงร้อยละ ๘๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ บ. Rolls-Royce ให้ข้อมูลว่า ในช่วง ๑๑ เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ปริมาณการบินของเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ (จากบันทึกสถิติชั่วโมงการบินในเครื่องยนต์) ลดน้อยลงไปมาก แม้จะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นบ้างหลังมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์รอบแรกและการยกเว้นการกักตนเองสำหรับ ปท. Travel Corridors แต่ในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ ๓๓ ของปริมาณเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ บริษัททั้งสองยังเห็นว่า หาก สอ. จะก้าวเป็น Global Britain หลัง Brexit จำเป็นต้องรักษาจุดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวไว้ จึงเสนอให้ รบ. สอ. ขยายมาตรการช่วยเหลือทางภาษีแก่สนามบินต่าง ๆ ที่กำลังประสบปัญหาและทบทวนนโยบายการเก็บภาษี นทท. ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การยกเลิกการคืนภาษีจากสินค้าและการเลิกจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในสนามบินที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะสร้างความเสียเปรียบให้แก่ภาคการท่องเที่ยว สอ. โดย สอ. จะเป็น ปท. เดียวในยุโรปที่มีนโยบายในลักษณะที่ดูจะไม่เป็นมิตรกับ นทท. ต่างชาติในเรื่องดังกล่าว
     ๑.๓ อุตสาหกรรมรถยนต์ สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ. (Society of Motor Manufactures and Traders – SMMT) เรียกร้องให้ รบ. สอ. ทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยง No-deal Brexit เนื่องจากจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของ สอ. ขาดทุนมากถึง ๕.๕ หมื่นล้านปอนด์ในช่วง ๕ ปีข้างหน้านี้ โดยนาย Johan van Zyl ปธ. ของ บ. Toyota ยุโรป มองว่า No-deal Brexit จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของ สอ. ฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-๑๙ ช้ากว่า EU และจะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาจากต้นทุนทางภาษีที่สูงขึ้นระหว่าง สอ. – EU ภายใต้ข้อกำหนดของ WTO ซึ่งจะทำให้รถยนต์ที่ผลิตใน สอ. จำหน่ายในยุโรปที่ราคาสูงกว่ารายอื่นที่มีโรงงานผลิตในยุโรป ทั้งนี้ Toyota มีฐานการผลิตใน สอ. จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ ที่เมือง Burnaston ใน Derbyshire และเมือง Deeside ในเวลส์
    ๑.๔ ซุปเปอร์มาร์เก็ต รบ. สอ. แจ้งเตือนให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตใน สอ. เร่งกักตุนสินค้าประเภทอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อรองรับพฤติกรรม panic-buying ของ ปชช. ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ No-deal Brexit นอกจากนี้ สมาคมการค้าปลีกของ สอ. ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสด เช่น ผักและผลไม้บางชนิดที่นำเข้าจาก EU จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ No-deal Brexit มากที่สุด โดยอาจมีเหตุให้การขนส่งล่าช้ากว่าปกติและทำให้สินค้าดังกล่าวขาดตลาดเป็นเวลา ๑ - ๓ เดือน ก่อนหน้านี้ รบ. สอ. ได้แนะนำให้บริษัทยาต่าง ๆ กักตุนยาในปริมาณเทียบเท่า ๖ เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าที่อาจเกิดจากกระบวนการนำเข้าหลัง Brexit อีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า การขนส่งที่ท่าเรือ Dover ของ สอ. มีคิวยาวสะสมเนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมากหลายเท่าตัวตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และบางคันใช้เวลารอนานกว่า ๖ ชม. จึงจะสามารถข้ามกลับไปยังฝั่งยุโรปได้

๒. ด้านนโยบายด้านการค้า/การส่งออกของ รบ. สอ. หลัง Brexit
    ๒.๑ ด้านการส่งออก รบ. สอ. ประกาศแผนส่งเสริมการส่งออกหลัง Brexit โดยจัดตั้งหน่วยงาน General Export Facility (GEF) ขึ้นภายใต้การดูแลของ UK Export Finance (UKEF) เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่บริษัทส่งออกขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) [1] โดยบริษัทที่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินจากธนาคารพันธมิตรของ รบ. สอ. ได้แก่ HSBC, Lloyds Bank, Natwest, Santander และ Barclays จะได้รับการค้ำประกันจาก UKEF ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๘๐ หรือไม่เกินมูลค่า ๒๕ ล้านปอนด์ ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน และกระตุ้นให้ธุรกิจส่งออกของ สอ. ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้หลังจากวิกฤตโควิด-๑๙
     ๒.๒ ด้านการค้า รปท. หลัง Brexit ในห้วงวันที่ ๑๐ – ๑๑ ธ.ค. ๖๓ ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) ประกาศความสำเร็จของ สอ. ในการลงนาม คตล. คงสภาพการค้าระหว่าง สอ. กับ สป. และกับ วน. ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับกับ คตล. การค้าที่ ปท. ทั้งสองมีกับ EU ซึ่งจะมีผลให้สินค้าส่งออกของ สอ. ไปยัง ปท. ดังกล่าวกว่าร้อยละ ๙๙ ได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าต่อไปหลัง สอ. ออกจาก EU รวมทั้งได้เห็นชอบในหลักการที่จะเจรจาเปิดตลาดด้าน ศก. ดิจิทัลร่วมกันต่อไปด้วย
           อนึ่ง สป. และ วน. ถือเป็นประเทศคู่ค้าสองอันดับแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ สอ. เจรจา คตล. การค้าด้วย เนื่องจาก ปท. ทั้งสองมี คตล. กับ EU อยู่ก่อนแล้วและยังเป็น ปท. สมาชิกในกลุ่ม Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ที่ สอ. ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นภาคีด้วย นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ ธ.ค. ๖๓ สอ. บรรลุ คตล. คงสภาพการค้ากับเม็กซิโกด้วยแล้ว จึงทำให้ขณะนี้ สอ. มี คตล. การค้ากับ ปท. สมาชิก CPTPP แล้วรวม ๗ จาก ๑๑ ปท. คงเหลือเฉพาะกลุ่มที่ต้องเจรจาจัดทำ คตล. ใหม่ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บรูไนฯ และมาเลเซีย ทั้งนี้ สอ. ตั้งเป้าที่จะสมัครเข้าเป็นภาคี CPTPP ให้ได้ภายในปี ๒๕๖๔

๓. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๓.๑ อุตสาหกรรมก่อสร้างยังเติบโตได้ดีในช่วงวิกฤตโควิดโดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายบ้านเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ ๖ โดยดัชนีบ่งชี้สภาวะทาง ศก. (Purchasing Managers’ Index – PMI) ของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จัดทำโดย IHS Market ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ ๕๔.๗ ในเดือน พ.ย. จาก ๕๓.๑ ในช่วงปลายเดือน ต.ค. ซึ่งถือเป็นการขยายตัวของภาคก่อสร้างที่รวดเร็วที่สุดในรอบ ๖ ปี ทั้งนี้ มาตรการยกเว้นภาษี Stamp Duty สำหรับการซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ชั่วคราวตั้งแต่เดือน ก.ค. ๖๓ - มี.ค. ๖๔ ของ รบ. สอ. ถือเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้ ปชช. เร่งซื้อขายบ้านในช่วงดังกล่าว ในขณะเดียวกันข้อมูลจากธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ระบุว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านในเดือน ต.ค. มีอัตราสูงที่สุดในรอบ ๑๓ ปี ในขณะที่ข้อมูลจากธนาคาร Nationwide ระบุว่า ราคาบ้านในเดือน พ.ย. ปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดในรอบ ๖ ปี อย่างไรก็ดี ภาคการบริการยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมากที่สุด โดยดัชนีบ่งชี้สภาวะทาง ศก. (PMI) ของภาคบริการในเดือน พ.ย. ๖๓ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ๔๗.๖ จาก ๕๑.๔ ในเดือน ต.ค. ๖๓ โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากการประกาศปรับสถานะพื้นที่ในอังกฤษเป็น tier 3 มากขึ้นและจะส่งผลควบคุมธุรกิจด้าน hospitality ในวงกว้างขึ้นด้วย
    ๓.๒ สภาวะการว่างงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้เนื่องจากแนวโน้มวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อและการใช้มาตรการควบคุมที่พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจด้าน hospitality เป็นหลักมาตั้งแต่ช่วงการล็อกดาวน์รอบแรกในเดือน มี.ค. ๖๓ และรอบที่สองในเดือน พ.ย. ๖๓ ทำให้ธุรกิจ hospitality ต้องหยุดกิจการหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาและส่วนหนึ่งนำไปสู่การเลิกกิจการ/เลิกจ้าง พนง. เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยรายงานสภาวะตลาดแรงงานรอบล่าสุดของ สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics – ONS) [2] ระบุว่า ในเดือน พ.ย. มีการจ้างงานลดลงจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ถึง ๘๑๙,๐๐๐ ตำแหน่งโดย ๑ ใน ๓ (หรือ จำนวน ๔๕๖,๘๓๗ ตำแหน่ง) ของ พนง. ที่ถูกเลิกจ้างเป็น พนง. ในส่วนของ Hospitality และธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ จากการที่ รบ. สอ. ประกาศปรับสถานะพื้นที่ในอังกฤษเป็น tier 3 มากขึ้น กค. สอ. ได้ประกาศขยายกำหนดเวลามาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) ต่อไปอีก ๑ เดือน (ขยายจากสิ้นเดือน มี.ค. ไปเป็นสิ้นเดือน เม.ย. ๖๔) เพื่อพยายามรักษาอัตราการจ้างงานไว้

๔. ความคืบหน้าเรื่อง Brexit
    ๔.๑ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าทั้งสองฝ่ายใช้ความพยายามอย่างหนักในทุกระดับ โดยมีการเจรจาโดยตรงระหว่างระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย การเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ของ นรม. Boris Johnson เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๖๓ และการยอมขยายเวลาการเจรจาออกไปอีกหลายครั้งเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะบรรลุ คตล. ทางการค้าร่วมกันก่อนจะพ้นกำหนดเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านในสิ้นปีนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ถ้อยคำเชิงบวกในการให้ข่าวเพื่อส่งสัญญาณว่าการเจรจามีความคืบหน้าที่ดี (good progress) แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถหาจุดร่วมในประเด็นสำคัญที่เห็นต่างกันมาตลอดได้ (โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิการประมงในน่านน้ำ สอ. ของฝ่าย EU) โดยรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า การเจรจาเข้าสู่ช่วงตึงเครียดและเหลือเวลาอีกไม่มาก จึงมีโอกาสน้อยที่จะตกลงกันได้บนเงื่อนไขปัจจุบัน ในขณะที่ฝ่าย สอ. ย้ำว่าหากฝ่าย EU ไม่เปลี่ยนท่าทีหลัก ๆ ของตน การจะบรรลุ คตล. ทางการค้าเพื่อใช้แทนเมื่อพ้นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในทันทีคงเป็นไปได้ยากและจำเป็นต้องใช้เงื่อนไขตาม WTO ไปก่อนโดยคณะผู้เจรจาของ สอ. มองว่า “No-deal is better than Bad deal” อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังพยายามเจรจากันต่อไปโดยยังไม่กำหนดวันสิ้นสุดการเจรจาเนื่องจากต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นฝ่ายยุติการเจรจาก่อน (ดังที่ สอท. ได้รายงานกระทรวงฯ มาเป็นระยะ ๆ และล่าสุดตามนัยโทรเลข สอท. ที่ LON80/2563 ลว. ๑๘ ธ.ค. ๖๓)
    ๔.๒ เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. ๖๓ คณะกรรมการร่วมของทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงในหลักการร่วมกันเกี่ยวกับการใช้บังคับของพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Protocol) ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้าย คตล. Withdrawal Agreement (WA) ที่กำหนดพันธกรณีของทั้งสองฝ่ายในการกำหนดวิธีบริหารจัดการชายแดนร่วมกันเพื่อไม่ให้มีการสร้างด่านตรวจถาวร (hard border) ที่บริเวณชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือของ สอ. กับไอร์แลนด์ที่อยู่ใน EU และปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสินค้าที่ผ่านเข้าออกเกาะไอร์แลนด์จากเกาะบริเตนใหญ่เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการกีดกันสินค้าจำเป็นจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือตามที่ฝ่าย สอ. เคยกังวลก่อนหน้านี้ ซึ่งนำไปสู่การเสนอร่าง กม. Internal Market Bill ฝ่ายเดียวของ สอ. ที่มีเนื้อหาบางส่วนขัดกับ คตล. WA และอาจเป็นการละเมิดพันธกรณีตาม กม. รปท. และส่งผลให้ฝ่าย EU ไม่พอใจก่อนหน้านี้ โดย สอ. ได้มีหนังสือแจ้งฝ่าย EU อย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าจะตัดเนื้อหาที่ขัดกับ คตล. WA ออกและจะไม่นำข้อความลักษณะเดียวกันมาไว้ในร่าง กม. Tax Bill ที่เตรียมเสนอต่อรัฐสภาเช่นกันแล้ว (ปัจจุบันร่าง กม. Internal Market Bill ยังคงไม่ผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบในรัฐสภา สอ.) ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศความสำเร็จดังกล่าวค่าเงินปอนด์ปรับตัวสูงขึ้นทันที

. ผลกระทบต่อไทย
    แนวโน้ม No-deal Brexit กลับมาเป็นข้อกังวลของภาคธุรกิจ สอ. อีกครั้ง แต่โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมี คตล. ลักษณะใดหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าต่าง ๆ ระหว่างกันอย่างไร ทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความโกลาหลที่ด่านเข้า-ออกระหว่าง สอ. กับ EU โดย British Retail Consortium เตือนว่า สินค้าอุปโภคบริโภคบางประการที่นำเข้าจาก EU จะประสบสภาวะขาดตลาดเนื่องจากคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและขั้นตอนโดยผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงได้แนะนำให้ผู้ประกอบการ สอ. เตรียมสั่งซื้อล่วงหน้าในจำนวนมากไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการใน สอ. ได้ในช่วงต้นปีหน้าโดย ปชช. ไม่จำเป็นต้องซื้อกักตุนไว้ (ปัจจุบันยังไม่พบการซื้อแบบ panic-buying ใน สอ.) อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทผักผลไม้และของสดซึ่งไม่สามารถกักตุนสต็อกได้ในปริมาณมากน่าจะเกิดสภาวะขาดตลาดในช่วงสั้น ๆ ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าว จึงน่าจะเป็นโอกาสของสินค้าผักผลไม้ไทยและ ปท. นอก EU อื่น ๆ ที่จะสามารถเข้าสู่ตลาด สอ. ได้มากขึ้น โดยในระยะสั้นน่าจะเพื่อทดแทนในช่วงที่ตลาด สอ. เกิดการขาดแคลนเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตรวจสอบกฎระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าจากหน่วยงาน สอ. เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสเข้าสู่ตลาด สอ. โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าผักผลไม้ของ สอ. ซึ่งมีมาตรฐานสูงและกฎระเบียบเฉพาะที่ไม่แตกต่างจาก EU นัก ทั้งนี้ หากสินค้ารายการเหล่านี้ของไทยสามารถผ่านมาตรฐานและกฎระเบียบของ สอ. จนติดตลาดได้ในระยะสั้นก็จะเป็นพื้นฐานไปสู่การรักษาส่วนแบ่งตลาด สอ. ในระยะยาวต่อไปได้

[1] https://www.gov.uk/government/news/radical-shake-up-to-government-export-finance-support-for-small-businesses
[2]https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/uklabourmarket/december2020