สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ม.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ม.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,267 view

๑. ผลกระทบของ Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ. – ในช่วงหลังจากวันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นมาถือเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจของ สอ. ต้องประสบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนกระบวนการนำเข้า-ส่งออกกับ EU อย่างกระทันหัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ สอ. และ EU บรรลุ คตล. ว่าด้วยการค้าและความร่วมมือได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๖๓ (ก่อนพ้นกำหนดสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเพียง ๖ วัน) เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ No-deal Brexit แต่ด้วยมีเวลาเตรียมการตามรายละเอียดของ คตล. ดังกล่าวไม่นาน จึงเกิดปัญหาติดขัดพอสมควรสำหรับผู้ประกอบการ สอ. ที่มีการค้าขายกับ EU โดยปรากฏในรายงานข่าวของ สอ. ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
    ๑.๑ การส่งสินค้าไปยัง EU ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกของ สอ. หลายแห่ง เช่น ห้าง John Lewis ห้าง Debenhams และร้าน Fortnum & Masons รวมถึงร้านค้า SMEs หลายรายประกาศยกเลิกการขายและจัดส่งสินค้าไปยังเกาะไอร์แลนด์ (ไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์) และ EU ชั่วคราว (ยังไม่กำหนดช่วงเวลาชัดเจน) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการที่สินค้าต้องติดอยู่ในกระบวนการพิธีการศุลกากรใหม่และการเสียภาษีเพิ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากภายใต้ คตล. ทางการค้าระหว่าง สอ. - EU ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ มีข้อกำหนดเรื่อง “rule of origin” (มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การยกเว้นภาษีครอบคลุมสินค้าที่ผลิตในดินแดนของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น) ที่ระบุให้ผู้ประกอบการใน สอ. ที่ส่งออกสินค้าไปยัง EU ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับรายการสินค้าหรือสินค้าที่มีส่วนประกอบที่ไม่ได้ผลิตภายใน สอ. หรือ EU นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ไปยัง EU จำเป็นต้องมีใบรับรองด้านสุขภาพสัตว์ตามมาตรฐานของ EU ด้วย ทั้งนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของ สอ. เช่น Sainsbury’s  M&S และ Tesco มีความเห็นว่า ปัจจัยจากขั้นตอนและกฎระเบียบ (red tape) ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากการสิ้นสุดช่วงที่ทั้งสองฝ่ายยังอะลุ่มอล่วยบางประการ (grace period) ในวันที่ ๓๑ มี.ค. ๖๔ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าจาก สอ. (เกาะบริเตนใหญ่) ไปยังไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารบางรายการขาดแคลนได้ ล่าสุด M&S ได้ประกาศยกเลิกการจัดส่งสินค้าจำนวนหลายร้อยรายการจาก สอ. ไปยังกิจการของ M&S ในไอร์แลนด์เหนือและ EU ชั่วคราวเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นที่จุดตรวจสินค้าข้ามพรมแดนซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า ในขณะที่ลูกค้าใน สอ. หลายรายได้รับสินค้าที่ส่งมาจาก EU ล่าช้าและต้องชำระเงินเพิ่มให้กับผู้ขนส่งเพื่อเป็นค่าภาษีนำเข้าด้วย
          นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทบริการขนส่งสินค้าจำนวนหนึ่งทั้งในฝั่ง สอ. และ EU (เช่น DFDS และ DB Schenker) ชะลอการให้บริการในช่วงนี้เพื่อเตรียมการด้านการทำทะเบียนและด้านเอกสารเพื่อใช้ขนส่งสินค้าข้ามแดนให้ถูกต้องก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาติดขัดที่ด่าน ในขณะที่ courier ชั้นนำอีกหลายราย (เช่น TNT, DHL และ UPS) ได้เพิ่มค่าบริการในการจัดส่งพัสดุข้ามแดนระหว่าง สอ. กับ EU ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในพิธีการข้ามแดนต่าง ๆ ด้วย
    ๑.๒ อุตสาหกรรมประมง การส่งออกอาหารทะเลจาก สอ. ไปยัง EU โดยเฉพาะกลุ่ม shell fish ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการอยู่ในสกอตแลนด์และเขต South West ของอังกฤษ ได้รับความเดือดร้อนจากความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการสำแดงเอกสารเพิ่มเติมและการผ่านขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าที่ส่งออกไปยัง EU ซึ่งบางรายการไม่สามารถข้ามไปส่งในฝั่ง EU ได้เนื่องจากไม่พร้อมด้านเอกสาร ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายล้านปอนด์ เนื่องจาก shell fish ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับการยกเว้นการสำแดงใบรับรองสุขภาพสัตว์ระหว่าง สอ. กับ EU ในช่วง grace period (จนถึงวันที่ ๓๑ มี.ค. ๖๔) จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบในภาคการประมงและมีการประท้วง รบ. สอ. โดยการขับรถบรรทุกตู้สินค้าที่ติดป้ายข้อความตำหนิ รบ. สอ. ขนาดใหญ่จำนวน ๒๔ คันจอดกีดขวางการจราจรบริเวณ สนง. นรม. ในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๖๔ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนพอสมควร

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดและการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งที่สาม
    ๒.๑ อุตสาหกรรมรถยนต์ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของ สอ. (the Society for Motor Manufacturers and Traders - SMMT) รายงานว่า ยอดของรถจดทะเบียนใหม่ในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนทั้งหมด ๑.๖๓ ล้านคัน ลดลงจากยอดปีที่แล้วร้อยละ ๒๙ และถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ ๓๐ ปี (นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๕) ปัจจัยจากการล็อกดาวน์รอบแรกที่ทำให้สูญเสียยอดขายในช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. ๖๓ ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คัน อย่างไรก็ดี มาตรการข้อจำกัดทางสังคมในช่วงครึ่งหลังของปีที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถขายรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์และการให้บริการ click and collect ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ให้ดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ SMMT ให้ข้อมูลว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใน สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามทิศทางนโยบายของ รบ. สอ. จากเดิมมีอัตราส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๑.๕ มาเป็นร้อยละ ๖.๕ ในปี ๖๓ ทั้งนี้ SMMT เชื่อว่า วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้เกิดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ ๒ หมื่นล้านปอนด์ และทำให้ รบ. สูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีรถยนต์ (VAT) เกือบ ๒ พันล้านปอนด์
    ๒.๒ ห้างสรรพสินค้า Debenhams ประกาศปิดกิจการใน สอ. จำนวน ๖ แห่งอย่างถาวร รวมถึงหน้าร้านหลัก (flagship) บนถนน Oxford Street ใจกลางย่านการค้าของกรุงลอนดอนเนื่องจากไม่สามารถหาผู้เข้าซื้อกิจการต่อได้ (Debenhams เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ๖๓) กอปรกับสัญญาเช่าพื้นที่บนถนน Oxford Street จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๗ ก.พ. ๖๔ ด้วย โดยจะส่งผลให้มีการเลิกจ้าง พนง. จำนวน ๓๒๐ ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี Debenhams ยังดำเนินกิจการผ่านเว็บไซต์อยู่ในขณะนี้และวางแผนที่จะเปิดกิจการที่เหลือหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อทยอยขายสินค้าที่อยู่ในสต็อกให้หมด
    ๒.๓ แฟชัน Primark รายงานว่า ยอดขายของบริษัทในเดือน พ.ย. - ธ.ค. ๖๓ ปรับตัวลดลงคิดเป็นมูลค่า ๕๔๐ ล้านปอนด์ (เทียบกับยอดขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของปี ๖๒ ที่มีมูลค่า ๒.๙ พันล้านปอนด์) ทำให้บริษัทต้องปรับการประเมินผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี (จนถึงสิ้นเดือน ก.พ. ๖๔) จากที่คาดว่าจะขาดทุนมูลค่า ๖๕๐ ล้านปอนด์ เป็นขาดทุนกว่า ๑ พันล้านปอนด์ ทั้งนี้ Primark ถือเป็นยี่ห้อแฟชันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-๑๙ อย่างมาก เนื่องจากบริษัทเน้นการขายสินค้าตามหน้าร้านและยังไม่มีแผนเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ (เพื่อคงต้นทุนสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำ) ในขณะที่ Asos ซึ่งเป็นบริษัทเว็บไซต์ขายสินค้าแฟชันยี่ห้อต่าง ๆ ของ สอ. รายงานว่า ยอดขายของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙ มาอยู่ที่ ๓.๓ พันล้านปอนด์ ในรอบปี (ส.ค. ๖๒ - ส.ค. ๖๓) และได้ประกาศสร้างศูนย์กระจายสินค้าใหม่มูลค่า ๙๐ ล้านปอนด์ที่เมือง Lichfield ในเขต Staffordshire ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดทำการได้ภายในเวลา ๑๒ เดือน โดยบริษัทวางแผนจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๒,๐๐๐ ตำแหน่งภายใน ๓ ปีข้างหน้านี้ ปัจจุบัน Asos มีศูนย์กระจายสินค้าหลักใกล้กับเมือง Barnsley ซึ่งมีการจ้างงานกว่า ๔,๐๐๐ ตำแหน่ง และยังมีศูนย์กระจายสินค้าที่กรุงเบอร์ลิน ทำให้บริษัทสามารถจัดส่งสินค้าภายใน EU ได้ตามปกติหลัง Brexit

๓. พัฒนาการทางนโยบายของ รบ. สอ. ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๖๔ กค. สอ. ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจค้าปลีกและภาค Hospitality เพิ่มเติมมูลค่า ๔.๖ พันล้านปอนด์[1] (ครอบคลุมธุรกิจประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ รายใน สอ.) โดยเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการล็อกดาวน์รอบที่สามนี้ โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบสามารถสมัครขอรับเงินช่วยเหลือแบบเงินก้อน (one-off) จำนวนไม่เกิน ๙,๐๐๐ ปอนด์ต่อสถานประกอบการ (property) ได้จนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนี้ รบ. แคว้นอื่น ๆ และหน่วยงานปกครองในระดับเขต (council) จะได้รับ งปม. เพิ่มรวมจำนวน ๕๙๔ ล้านปอนด์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือข้างต้นด้วย โดยคาดว่าการล็อกดาวน์อาจมีการบังคับใช้อย่างน้อยไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. ๖๔ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการทางภาษี (การยกเว้นภาษีธุรกิจเป็นเวลา ๑ ปีสำหรับธุรกิจค้าปลีก Hospitality) และมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) ที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือน เม.ย. ศกนี้
    ๓.๒ เมื่อวันที่ ๑๒ ม.ค. ๖๔ รบ. สอ. โดย กต. สอ. ประกาศทบทวนมาตรการทางธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรของรัฐและเอกชนของ สอ. เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแสวงหาประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ในเมืองซินเจียงของจีน[2] โดย รบ. สอ. จะกำหนดรายการสินค้าที่ห้ามส่งออกไปยังเมืองซินเจียง รวมถึงการเพิ่มโทษปรับต่อการละเมิดกฎระเบียบการประกอบธุรกิจภายใต้ กม. Modern Slavery Act 2015 ที่ควบคุมไม่ให้เอกชนที่ประกอบธุรกิจใน สอ. เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานที่พบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการประกาศมาตรการดังกล่าวถือเป็นการแสดงจุดยืนของ สอ. เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตซินเจียงที่ สอ. ประณามว่า รบ. จีนกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ได้กำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบกับเอกชน สอ. ที่พึ่งพาการผลิตในจีนจำนวนไม่น้อย และน่าจะเกิดการคัดเลือกผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานนอกจีนแทนในระยะต่อไป ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตใน ปท. ใกล้เคียง เช่น ในอาเซียนและเอเชียใต้ ในการดึงดูดการลงทุนและการสั่งซื้อ/ผลิตจากภาคเอกชน สอ. ได้
    ๓.๓ สอ. และสเปนบรรลุ คตล. เกี่ยวกับดินแดนยิบรอลตา (ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษที่อยู่ติดกับสเปน) โดยตกลงให้ดินแดนยิบรอลตายังเป็นส่วนหนึ่งของ EU และใช้กฎระเบียบตาม EU Single Market เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านตรวจระหว่างดินแดนยิบรอลตาและสเปน โดยในส่วนของนโยบายด้านการทหารและการ ตปท. ของยิบรอลตายังคงอิงตาม กม. สอ. [1] ทั้งนี้ คตล. ดังกล่าวส่งผลให้ดินแดนยิบรอลตาได้รับสถานะเป็นสมาชิกของ EU ต่อไป (ในช่วงการลงประชามติ Brexit เมื่อปี ๒๕๕๙ ชาวยิบรอลตาซึ่งมี ปชก. ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ลงคะแนนเสียงให้คงอยู่ใน EU ร้อยละ ๙๖) ซึ่งชาว EU ที่เดินทางมาจากสเปนหรือ ปท. สมาชิก EU อื่นจะสามารถเข้าไปยังยิบรอลตาได้อย่างเสรี ในขณะที่บุคคลที่เดินทางเข้ามาจาก สอ. ต้องผ่านด่านตรวจหนังสือเดินทางปกติ

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๔.๑ ข้อมูลจากบริษัทจัดหางานของ สอ. จำนวน ๔๐๐ แห่ง รายงานว่า อัตราการจ้างงานใน สอ. ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ธ.ค. ๖๓ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ ๓ เดือน ทั้งนี้ ตำแหน่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งชั่วคราวเนื่องจากบริษัทต้องการหลีกเลี่ยงภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยวิกฤตโควิด-๑๙ และ Brexit โดยประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่เป็นงานในตำแหน่งทางการแพทย์ และตำแหน่งในสถาบันสุขภาพและสถาบันดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย (healthcare) ในขณะที่งานในตำแหน่งในธุรกิจ Hospitality ปรับตัวลดลง ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า อัตราการว่างงานในช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. ๖๓ อยู่ที่ระดับร้อยละ ๔.๙ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๗ จากช่วงสามเดือนก่อนหน้านี้ โดยในช่วงเดียวกันมีบริษัทที่ล้มละลายจำนวน ๓๗๐,๐๐๐ แห่ง ทั้งนี้ Office for Budget Responsibility (OBR) คาดว่า ปัจจัยจากการล็อกดาวน์รอบที่สองในเดือน พ.ย. ๖๓ และรอบที่สามในเดือน ม.ค. ๖๔ อาจทำให้อัตราการว่างงานในช่วง พ.ย. ๖๓ - ม.ค. ๖๔ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๙.๗
    ๔.๒ ONS รายงานว่า ศก. สอ. โดยรวมในเดือน พ.ย. ๖๓ หดตัวลงร้อยละ ๒.๖ โดยมีปัจจัยจากการล็อกดาวน์รอบที่สองในเดือนดังกล่าว ทำให้ GDP สอ. อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ร้อยละ ๘.๕ ทั้งนี้ GDP ของภาคบริการซึ่งคิดเป็น ๓ ใน ๔ ของ GDP โดยรวมของ สอ.ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓.๔ หรือคิดเป็นร้อยละ ๙.๙ เมื่อเทียบกับช่วง ก.พ. ๖๓ อย่างไรก็ดี การหดตัวทาง ศก. ในเดือน พ.ย. ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงการล็อกดาวน์
รอบแรก ทั้งนี้ เนื่องจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมบางส่วน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และธุรกิจก่อสร้างยังสามารถดำเนินกิจการได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ทาง ศก. หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า หาก รบ. ขยายการล็อกดาวน์หรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้น (tier 3 – tier 4) ไปเกินกว่าเดือน มี.ค. ๖๔ อาจทำให้ สอ. ต้องเผชิญกับสภาวะถดถอยทาง ศก. อีกครั้ง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ประเมินแนวโน้ม ศก. สอ. ปี ๖๔ ดังนี้
           GDP – บ. Resolution Foundation ประเมินว่า ปัจจัยจากการล็อกดาวน์รอบที่สาม กอปรกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเข้มงวด (tier 3 – tier 4) ภายหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ซึ่งอาจมีการบังคับใช้จนถึงเดือน มี.ค. ๖๔ อาจทำให้ ศก. ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งหดตัวมากถึงร้อยละ ๖ ส่งผลให้ ศก. สอ. โดยรวมในปี ๖๔ ขยายตัวเพียงร้อยละ ๔.๓ ต่ำกว่าการประเมินของ OBR ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่อัตราร้อยละ ๕.๕ นอกจากนี้ ปัจจัย Brexit ทำให้ภาคธุรกิจ สอ. ต้องเผชิญกับขั้นตอนและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ของ EU จึงอาจทำให้ ศก. สอ. ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD อื่น ๆ โดย OBR คาดว่า ขั้นตอนและกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผลผลิตของ สอ. ในระยะยาวลดลงในอัตราร้อยละ ๔ เมื่อเทียบกับ EU ด้วย
           การจ้างงาน – ข้อมูลการประเมินของ OBR ระบุว่า อัตราการว่างงานใน สอ. จะเพิ่มขึ้นสูงสุดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๗.๕ (หรือประมาณ ๒.๖ ล้านคน) ในช่วงกลางปี ๖๔ หลังจากการสิ้นสุดของมาตรการค่าจ้างช่วยเหลือ (Furlough Scheme) ในเดือน เม.ย. ๖๔ (อัตราการว่างงานในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ อยู่ที่ร้อยละ ๓.๖)
           การคลัง – รบ. สอ. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น ศก. สนับสนุนการจ้างงาน และช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนตลอดช่วงปี ๖๓ ทำให้ รบ. สอ. ประสบสภาวะขาดดุลจำนวน ๓๙๔ พันล้านปอนด์ในปี งปม. ๖๓ (เม.ย. ๖๓ - มี.ค. ๖๔) ส่งผลให้ สอ. มีหนี้สาธารณะรวมกว่า ๒ ล้านล้านปอนด์ หรือเกินกว่าร้อยละ ๑๐๐ ของ GDP โดย รบ. สอ. จะอยู่ในสภาวะงบขาดดุลต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๕ ปี อย่างไรก็ดี คาดว่า งปม. ขาดดุลจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ ๑๖๔ พันล้านปอนด์ในปี งปม. ๖๔ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มคลี่คลายลงทำให้ รบ. สามารถปรับลดความช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง
           อัตราเงินเฟ้อ – อัตราเงินเฟ้อในปี ๖๓ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๐.๓ โดยมีปัจจัยจากการปรับลดของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงทำให้บริษัทต่าง ๆ ทยอยปรับลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดย OBR คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของ สอ. จะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ ๒ ไปอีก ๕ ปี (ปี ๖๘)นอกจากนี้ ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England – BoE) ให้ข้อมูลว่า BoE ยังไม่มีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนกว่า ศก. สอ. จะปรับตัวไปในทิศทางบวกอย่างชัดเจน
           อสังหาริมทรัพย์ – คาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนในปี ๖๔ เนื่องจากปัจจัยของอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับการสิ้นสุดมาตรการยกเลิกอัตราภาษี Stamp Duty ชั่วคราวในเดือน มี.ค. ๖๔ โดย ธ. Halifax (ซึ่งเป็นธนาคารที่มีการปล่อยกู้เงินในการซื้อบ้านอันดับหนึ่งของ สอ.) ประเมินว่าราคาบ้านจะปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ ๒ – ๕ ในปี ๖๔ ในขณะที่ OBR คาดว่าจะปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ ๘

. นัยสำคัญต่อไทย
    - ปัญหาการติดขัดที่ด่านพรมแดน สอ. กับ EU ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า คตล. การค้าระหว่าง สอ. กับ EU แม้จะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเกือบทุกรายการ แต่ได้สร้างขั้นตอนและกฎระเบียบในการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างกันใหม่ ซึ่งกลายเป็น Non-Tariff Barriers (NTBs) ที่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายยังไม่คุ้นเคยในระยะสั้น และน่าจะส่งผลให้ในระยะยาวผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการจัดส่งสินค้า รปท. ซึ่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีอายุสั้นและจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วในการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ใช้ สอ. เป็นฐานในการกระจายสินค้าไปยัง EU หรือที่ต้องนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบมาจาก EU ควรต้องศึกษาข้อมูลด้านการส่งออก/นำเข้าที่ว่าด้วยกฎ “rule of origin” อย่างถี่ถ้วนเพื่อให้สามารถปรับหรือวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ดังกล่าวได้ในระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

[1] https://www.gov.uk/government/news/uk-gibraltar-spain-agreement-statement-from-the-foreign-secretary
[2]https://www.gov.uk/government/news/46-billion-in-new-lockdown-grants-to-support-businesses-and-protect-jobs
[3]https://www.gov.uk/government/news/uk-government-announces-business-measures-over-xinjiang-human-rights-abuses