วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ต.ค. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตครองตลาดอันดับหนึ่งใน สอ. มีผลกำไรก่อน เสียภาษี (profit before tax) ในช่วงครึ่งแรกของปี (ม.ค. - ส.ค. ๖๕) ลดลงถึงร้อยละ ๖๓.๙ (ประมาณ ๔๑๓ ล้านปอนด์) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้บริษัทปรับการคาดการณ์ผลประกอบการประจำปี ๖๕ ลดลงประมาณ ๑๐๐ ล้านปอนด์ (เหลือประมาณ ๒.๔ - ๒.๕ พันล้านปอนด์) และประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ในส่วนของ สนง. ใหญ่และฝ่ายบริหารในส่วนภูมิภาคจำนวน ๓๒๕ ตำแหน่ง รวมถึงการเพิ่มจำนวนเครื่องชำระเงินอัตโนมัติ (automated tills) และลดจำนวนบริษัทคู่ค้า (supplier) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้จำนวน ๕๐๐ ล้านปอนด์/ปีและปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้ากับแนวโน้มดังกล่าว โดยบริษัทมองว่าผลกำไรที่ลดลงมีปัจจัยจากผู้บริโภคพยายามลดค่าใช้จ่ายท่ามกลางภาวะวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทเตรียมปรับแผนการตลาดในระยะต่อไปเพื่อดึงดูดลูกค้าในระยะยาว โดยจะตรึงราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันกว่า ๑,๐๐๐ รายการ (Low Everyday Prices) จนถึงปีหน้าเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภคจากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมการขายสินค้าในส่วนของยี่ห้อ “Tesco Finest” ซึ่งเป็นสินค้าอาหารกลุ่มคุณภาพดีในราคาย่อมเยาของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้มียอดขายสินค้า “Tesco Finest” ปรับขึ้นถึง ร้อยละ ๑๓ ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อสินค้าราคาถูกมากขึ้นและลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่ พนง. ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็น ๑๐.๙๘ ปอนด์/ชม. ในกรุงลอนดอน และ ๑๐.๓๐ ปอนด์/ชม. ในต่างจังหวัด ในเดือน พ.ย. ศกนี้ด้วยโดยถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงครั้งที่ ๓ ในรอบ ๑๓ เดือนเพื่อช่วยเหลือ พนง. และรักษาการจ้างงานให้แข่งขันได้กับบริษัทคู่แข่งอื่นในช่วงภาวะค่าครองชีพสูง[1]
๑.๒ อสังหาริมทรัพย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารและสถาบันการเงินของ สอ. ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพักสำหรับ ๒ ปี และ ๕ ปีที่อัตราเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ ๖ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ ๑๔ ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) ครั้งต่อไปในเดือน พ.ย. ศกนี้ ปัจจัยดังกล่าวกอปรกับปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ที่มีกำลังซื้อบ้านมีจำนวนลดลงซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ สอ. โดยข้อมูลของ Royal Institute of Chartered Surveyors (RICS) พบว่ายอดการซื้อขายบ้านในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพักที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาบ้านลดลงในระยะต่อไป[2] ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก ธ. Halifax ที่ประเมินว่าราคาบ้านของ สอ. ในเดือน ก.ย. ๖๕ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งที่สองในรอบสามเดือนที่ระดับร้อยละ ๐.๑ มาอยู่ที่อัตราเฉลี่ย ๒๙๓,๘๓๕ ปอนด์/หลัง แต่ยังมีราคาสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ ๙.๙ ทั้งนี้ บ. Oxford Economics ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ด้าน ศก. ของ สอ. มองว่าภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่มีความสำคัญด้าน ศก. ของโลกรวมถึง สอ. เริ่มส่งสัญญาณที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤต ศก. ในปี ๕๐-๕๑ โดยคาดการณ์ว่าปัจจัยจากความไม่แน่นอนทาง ศก. กอปรกับการที่นักลงทุนและสถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทาง ศก. ของ รบ. สอ. จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพักปรับขึ้นอยู่ในระดับสูงไปจนถึงอย่างน้อยต้นปี ๖๗[3]
อนึ่ง ข้อมูลสถิติราคาบ้านใน สอ. ประจำเดือน ก.ย. ๖๕ จัดทำโดย ธ. Halifax ระบุว่า ราคาบ้านในอังกฤษโดยรวมปรับตัวขึ้นช้าลงยกเว้นในภูมิภาค ตอ. เฉียงเหนือ โดยราคาบ้านในลอนดอนปรับตัวขึ้นช้าที่สุดที่ร้อยละ ๘.๑ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาบ้านในแคว้นเวลส์ปรับตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดที่ร้อยละ ๑๔.๘ ไอร์แลนด์เหนือที่ร้อยละ ๑๐.๙ และแคว้นสกอตแลนด์ที่ร้อยละ ๘.๕[4]
๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก การสำรวจข้อมูลยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกจัดทำโดยสมาคมผู้ค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) ร่วมกับ บ. KPMG (BRC-KPMG Retail Sales Monitor) ระบุว่า จำนวนสินค้าที่จำหน่ายได้ในเดือน ก.ย. ๖๕ ปรับตัวลดลง ในขณะที่มูลค่าของยอดขายสินค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๒ เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ร้านค้าขายปลีกปรับขึ้นราคาสินค้า โดยยอดขายสินค้าอาหารในช่วงสามเดือนจนถึง ก.ย. ๖๕ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๖ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (non-food) ลดลงร้อยละ ๐.๔ เนื่องจาก ปชช. หลีกเลี่ยงการจับจ่ายสินค้าราคาแพง เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และเฟอร์นิเจอร์ ยกเว้นสินค้าและอุปกรณ์เครื่องครัวช่วยประหยัดไฟฟ้าโดยเฉพาะหม้อทอดไร้น้ำมัน (air fryer) และผ้าห่ม ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจาก Barclaycard พบว่า ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ปชช. ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/เครดิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพียงร้อยละ ๑.๘ โดยยอดการจับจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าจำเป็นและอาหารปรับตัวลดลงเนื่องจาก ปชช. เลือกซื้อสินค้าประเภทเดียวกันที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดการใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิงออนไลน์และการสั่งอาหาร takeaway ปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนว่า ปชช. พยายามลดการใช้จ่ายนอกบ้านและเลือกทำกิจกรรมและความบันเทิงภายในบ้าน (insperience) มากขึ้นซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ (hospitality) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาวนี้[5]
๑.๔ อาหาร ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของ สอ. เช่น Waitrose, Marks & Spencer, Tesco, Sainsbury’s, Asda และ Co-op ได้ทยอยประกาศยกเลิกการติดฉลากวันหมดอายุ (Best before หรือควรบริโภคก่อนวันที่) บนผลิตภัณฑ์อาหารสดและผักผลไม้หลายร้อยรายการ โดยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเองว่าผักผลไม้ที่ซื้อมานั้นยังสามารถบริโภคได้อยู่หรือไม่เพื่อช่วยลดปัญหาการทิ้งผักผลไม้ที่ยังสามารถบริโภคได้อยู่และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในปัจจุบันด้วย โดยข้อมูลจากองค์กร Waste and Resources Action Programme (WRAP) ประเมินว่าภาคครัวเรือนของ สอ. ทิ้งอาหาร/วัตถุดิบที่ยังสามารถรับประทานหรือนำมาประกอบอาหารได้ราว ๙.๕ ล้านตัน/ปี ซึ่งถือเป็นการสูญเสียพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า ๓๖ ล้านตันด้วย จึงเชื่อว่าการยกเลิกการติดฉลากดังกล่าวจะช่วยลดการทิ้งอาหารได้กว่าร้อยละ ๗๐ ของปริมาณการทิ้งอาหารต่อปีข้างต้น หรือเทียบเท่า ๑.๕ หมื่นล้านมื้อ รวมทั้งเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อ สวล. ด้วยอีกทางหนึ่ง[6]
๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
- เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๖๕ นาง Liz Truss นรม. สอ. ประกาศปรับเปลี่ยน รมว. กค. สอ. โดยแต่งตั้งนาย Jeremy Hunt ให้ดำรงตำแหน่งแทนนาย Kwasi Kwarteng (นาย Kwarteng ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาได้เพียง ๓๘ วัน) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ศก. ใหม่อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้นาย Kwarteng ได้ประกาศนโยบายกระตุ้น ศก. (Growth Plan 2022) เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ย. ๖๕ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นสูงเกินความจำเป็นและขาดแผนรองรับด้าน งปม. จนอาจนำไปสู่การขาดวินัยทางการคลัง จึงได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนทาง ศก. ของ สอ. อย่างรุนแรงในช่วง ๓ สัปดาห์ที่ผ่านมาและทำให้ภาพรวมความน่าเชื่อถือของ ศก. สอ. ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในบ่ายวันเดียวกัน นรม. Truss ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า รบ. สอ. จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้น ศก. บางส่วนและดำเนินการตามมาตรการของ รบ. สอ. ชุดเก่าเพื่อรักษาวินัยการคลังสาธารณะ เช่น การปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล (Corporation Tax) จากอัตราร้อยละ ๑๙ เป็นร้อยละ ๒๕ เริ่มตั้งแต่ เม.ย. ๖๖ เป็นต้นไป และการคงอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ ปอนด์/ปีขึ้นไป ที่อัตราร้อยละ ๔๕ เช่นเดิม อย่างไรก็ดี พัฒนาการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมากนัก (ทรงตัวระดับต่ำที่ประมาณ ๑ ปอนด์ต่อ ๑.๑๑ ดอลลาร์สหรัฐ) โดยนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีความหวาดระแวงเนื่องจากยังคงมี งปม. ที่ต้องกู้ยืมเงินมาอุดหนุนอีกจำนวนมากตามนโยบายควบคุมต้นทุนพลังงาน อีกทั้งยังรอความชัดเจนจากแผนรายจ่าย งปม. ระยะกลาง (medium-term fiscal plan) ที่คาดว่าจะประกาศในปลายเดือน ต.ค. นี้อีกครั้ง ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการของ รบ. สอ. ภายใต้การนำของ นรม. Truss[7]
๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๓.๑ ศก. สอ. ส่งสัญญาณเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า ผลผลิตโดยรวม (GDP) ของ สอ. ในเดือน ส.ค. ๖๕ ซึ่งบ่งชี้ภาวะศก. สอ. หดตัวลดลงร้อยละ ๐.๓ (จากที่ปรับขึ้นในเดือน ก.ค. ร้อยละ ๐.๑) โดยมีปัจจัยจากยอดการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ ๑.๖ ภาคธุรกิจบริการแบบ consumer-facing เช่น ภาคธุรกิจค้าปลีก และโรงแรมลดลงร้อยละ ๑.๘ และภาคก่อสร้างลดลงร้อยละ ๒ ส่งผลให้ GDP โดยรวมของ สอ. ในช่วง มิ.ย. - ส.ค. ๖๕ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๓ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีกร้อยละ ๐.๓ โดยคาดว่าเป็นผลกระทบจากช่วงสัปดาห์การไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ที่ทำให้ผลผลิตและกิจกรรมทาง ศก. โดยรวมลดลงในภาพรวม[8]
๓.๒ IMF วิเคราะห์ว่าปัญหาค่าครองชีพและวิกฤตด้านพลังงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในฤดูหนาวนี้อาจทำให้หลาย ปท. มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยในปีหน้านี้เพิ่มขึ้น โดยรายงานการประเมิน ศก. โลกล่าสุดที่จัดทำโดย IMF ระบุว่า ศก. โลกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตที่ระดับร้อยละ ๓.๒ (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๖ เมื่อปี ๖๔) และที่ร้อยละ ๒.๗ ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยจากวิกฤตด้านพลังงาน และการดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทาง ศก. ของประเทศที่มีความสำคัญด้าน ศก. ของโลก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของทั่วโลกในปีนี้จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๘.๘ และจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๖.๕ ในปีหน้า
ในส่วนของ สอ. IMF คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของ สอ. มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงที่สุดมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๑๑.๓ ภายในสิ้นปีนี้ (สูงที่สุดในกลุ่ม ปท. G7) และจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๙ ได้ในปี ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗ แม้ว่าในภาพรวม ศก. สอ. ในปีนี้อาจยังเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับกลุ่ม ปท. G7 อื่นแต่จะเติบโตได้เพียงร้อยละ ๐.๓ ในปีหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ IMF ได้ออกมาสนับสนุนการยกเลิกมาตรการกระตุ้น ศก. ของ สอ. ที่เน้นการลดภาษีในระยะสั้นนี้เนื่องจากจะช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพที่แย่ลงกว่าเดิม รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นยาวนานที่สุดในยุโรปด้วย[9]
๓.๓ ขณะนี้กล่าวได้ว่าสถานการณ์ผันผวนทาง ศก. ยังคงมีมากและได้ส่งผลกระทบทางการเมืองใน สอ. ให้กลับมามีความไม่มั่นคงอีกครั้ง แม้ว่า สอ. จะเพิ่งมีการเปลี่ยนผู้นำประเทศเมื่อต้น ก.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม รบ. สอ. กำลังพยายามอย่างหนักในการดำเนินนโยบายเพื่อหวังฟื้นฟูความเชื่อมั่นโดยเร็ว โดยล่าสุด (๑๗ ต.ค.) นาย Hunt รมว. กค. คนใหม่ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับแนวนโยบายของ รบ. สอ. ต่อแผน งปม. ระยะกลาง ที่จะมีการประกาศในปลายเดือน ต.ค. ศกนี้ต่อไปเพื่อสร้างความชัดเจนและเสถียรภาพทางการเงินในปัจจุบัน โดยย้ำว่า รบ. สอ. จะยกเลิกการลดภาษีเงินได้เกือบทุกรายการที่เคยประกาศไว้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง และย้ำการเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานในช่วง ต.ค. ๖๕ - เม.ย. ๖๖ ตามที่ประกาศไว้ แต่หลังจากนั้นจะปรับเปลี่ยนการอุดหนุน งปม. นี้ให้ลดลงตามลำดับเพื่อลดภาระการกู้ยืมเงินในภาพรวม ซึ่งนักลงทุนและตลาดการเงินตอบสนองกับนโยบายดังกล่าวในเชิงบวกโดยค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร รบ. สอ. ลดลงทันที[10] แต่ในระยะยาวยังคงต้องติดตามการประกาศ medium-term fiscal plan และผลการประเมินความเสี่ยงทางการคลังโดยองค์กร Office for Budget Responsibility (OBR) ในปลายเดือน ต.ค. นี้
[1] https://www.theguardian.com/business/2022/oct/05/tesco-warns-of-cost-inflation-as-it-raises-pay-for-third-time-in-13-months
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-63230000
[3] https://www.thetimes.co.uk/article/house-prices-overvalued-by-a-third-and-likely-to-fall-jq83xpcmd
[4] https://www.thetimes.co.uk/article/house-prices-fall-from-record-high-as-mortgage-rates-rise-according-to-halifax-6lwwxtvg7
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-63202826
[6] https://metro.co.uk/2022/08/03/which-supermarkets-are-scrapping-best-before-dates-and-why-17117556/
[7] https://www.ft.com/content/63ac7dab-d8e4-412c-a910-c0013fdf7f3d
[8] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/august2022
[9] https://www.bbc.co.uk/news/business-63206733
[10] https://www.bbc.co.uk/news/business-63278821