วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
๑.๑ ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencerประกาศผลกำไรในช่วง ๖ เดือน (พ.ค. - ต.ค.๖๔) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗.๙ ไปอยู่ที่ ๑๘๗ ล้านปอนด์ โดยมีปัจจัยจากยอดขายอาหารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๔ ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านราคาเต็มปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗.๓ ข่าวดังกล่าวทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทปรับตัวขึ้นร้อยละ ๒๐ ทั้งนี้ M&S เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและเพิ่มการลงทุนด้านออนไลน์เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิดโดยทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นร้อยละ ๕๐ ของ บ. Ocado ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ขนาดใหญ่ของ สอ. และเริ่มขายผลิตภัณฑ์อาหารของ M&S บนเว็บไซต์ดังกล่าวตั้งแต่เดือน ก.ย. ๖๓ เป็นต้นมาโดยนักวิเคราะห์มองว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยเน้นขายสินค้าประเภทอาหารมากขึ้นและการเข้าร่วมหุ้นกับ บ. Ocado เป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทมีผลกำไรจากยอดขายอาหารที่สูงขึ้นในปีนี้โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการขยายตัวทางออนไลน์มากกว่าร้อยละ ๖๐[1]
๑.๒ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ประกาศนโยบายสำหรับบริษัทที่ปลูกและจัดส่งสินค้าประเภทผักและผลไม้สด (fresh produce grower) ให้กับ Tesco ทั้งหมดจำนวน ๑๔,๐๐๐ ราย ว่าจะต้องได้การรับรองมาตรฐาน LEAF Marque ก่อนจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าให้กับบริษัทได้โดย Tesco จะดำเนินการรับรองมาตรฐานของบริษัทผู้ปลูกฯใน สอ. ทั้งหมดภายในปีหน้าและรับรองมาตรฐานของบริษัทผู้ปลูกฯ ต่างชาติภายในปี ๒๕๖๘ ทั้งนี้ LEAF Marque เป็นมาตรฐานที่ดำเนินการโดยองค์กรเกษตรกรรมระดับโลก LEAF (Linking Environment And Farming) ที่มุ่งเน้นให้การรับรองธุรกิจเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อ สวล. และมีการบริหารจัดการทรัพยากรดิน การใช้น้ำ การจัดการของเสีย รวมถึงเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นเป็นต้นนโยบายดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ Tesco ในการส่งเสริมกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อ สวล. และช่วยลดผลกระทบจากพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน[2]
๑.๓ การจ้างงาน ข้อมูลจาก บ. Adzuna ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศจ้างงาน รายงานว่า ขณะนี้มีตำแหน่งงานชั่วคราวสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส (seasonal job vacancies) ว่างมากถึง ๒๖,๓๐๗ ตำแหน่ง สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบเท่าตัว โดยซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ยังมีตำแหน่งงานว่าง ๘๗๐ ตำแหน่ง ในขณะที่ บ. Hermes ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งสินค้า และการไปรษณีย์ สอ. (Royal Mail) ยังต้องการ พนง. ขับรถจัดส่งสินค้าเพิ่ม ๗๔๐ ตำแหน่ง และ ๒๐๐ ตำแหน่งตามลำดับ นอกจากนี้ บ. Adzuna ยังระบุว่า บริษัทหลายแห่งได้ประกาศให้เงินโบนัสเพื่อดึงดูดให้ผู้สนใจสมัครทำงานในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วย อาทิ บ. Amazon ให้เงินโบนัสจำนวน ๒,๐๐๐ ปอนด์ สำหรับ พนง. ประจำคลังเก็บสินค้าชั่วคราว บ. DPD ให้เงินโบนัสจำนวน ๑,๐๐๐ ปอนด์ สำหรับ พนง. ประจำคลังเก็บสินค้ารอบดึก นอกจากนี้ บ. Ocado / AO.com และกลุ่มโรงแรม Hand Picked Hotels ให้เงินโบนัสจำนวน ๕๐๐ ปอนด์ แก่ พนง. ใหม่ด้วยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงโดยเฉพาะในภาคธุรกิจค้าปลีก logistics และคลังเก็บ/กระจายสินค้าซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโควิดและ Brexitซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าบางรายการในซุปเปอร์มาร์เก็ตในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาสได้[3]
๑.๔ พลังงานนิวเคลียร์บ. Rolls-Royce ประกาศตั้งธุรกิจใหม่เพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Rolls-Royce Small Modular Reactor) โดยเป็นการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจำนวน ๒๑๐ ล้านปอนด์จาก รบ. สอ. (ภาคเอกชน อาทิ Rolls-Royce Group, BNF Resources และ Exelon Generation ลงทุนจำนวน ๑๙๕ ล้านปอนด์)คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวน ๔๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ โดยเฉพาะในภาคเหนือของ สอ. และสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่เป็นมิตรกับ สวล. บ. Rolls-Royceมองว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ SMR ใช้พื้นที่น้อยกว่าและใช้ต้นทุนในการสร้างต่ำกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไปถึงสิบเท่า แต่มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้จำนวน ๔๗๐ เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการใช้กังหันลมจำนวน ๑๕๐ ต้น และสามารถแจกจ่ายพลังงานให้แก่ครัวเรือนถึง ๑ ล้านหลัง ซึ่งบริษัทเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยผลิตพลังงานสะอาดและช่วยลดการใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติจากฟอสซิลได้ ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี
จากนักลงทุนทำให้มูลค่าหุ้นของ Rolls-Royce ปรับตัวขึ้นร้อยละ ๔.๒ มาอยู่ที่ราคาหุ้นละ ๑๔๗.๘๕ เพนซ์ แต่ภาค
ประชาสังคมมองว่า การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ไม่สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมสีเขียว ๑๐ ประการ
ของ สอ. อีกทั้งจะสร้างปัญหาในการกำจัดกากกัมมันตรังสีจำนวนมากในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังต้องรอ
การอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน[4]
๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
๒.๑ เมื่อวันที่ ๑ พ.ย. ๖๔ นาย Boris Johnson นรม. สอ. ประกาศแผน “Clean Green Initiative (CGI)”[5] ระหว่าง กปช. COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืนเพื่อ สวล. ใน ปท. กำลังพัฒนาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนและกระตุ้นการเติบโตทางศก. โดยจะให้เงินสนับสนุนการลงทุนเพื่อ สวล. จำนวน ๓ พันล้านปอนด์ ภายใน ๕ ปีข้างหน้านี้ และเงินจำนวน ๒๐๐ ล้านปอนด์ สำหรับตั้งศูนย์ Climate Innovation Facility ใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสภาวะโลกร้อนที่เกิดกับชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้ หน่วยงาน Private Infrastructure Development Group (PIDG) ของ สอ. ได้ประกาศให้เงินทุนจำนวนกว่า ๒๑๐ ล้านปอนด์ เพื่อสนับสนุนโครงการปฏิรูป สวล. ต่าง ๆ ใน ปท. กำลังพัฒนา เช่น การผลิตยานยนต์ระบบไฟฟ้าในอินเดีย โครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในปากีสถาน เนปาล และบูร์กินาฟาโซ เป็นต้น ทั้งนี้ สอ. ยังประกาศค้ำประกันเงินกู้ผ่านธนาคารพันธมิตรในอินเดียและแอฟริกาเพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการด้าน สวล. ในประเทศ/ทวีปดังกล่าว ได้แก่ โครงการ “India Green Guarantee” ค้ำประกันเงินลงทุนไม่เกินมูลค่า ๗๕๐ ล้านปอนด์ และโครงการ “Room to Run” ค้ำประกันเงินลงทุนไม่เกินมูลค่า ๑.๔๕ พันล้านปอนด์ ทั้งนี้ แผน CGI ดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ สอ. ในการสนับสนุนแผน “G7 Build Back Better World Initiative” ที่ประกาศระหว่าง กปช. ระดับผู้นำ G7 ที่เมือง Carbis Bay สกอตแลนด์ ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย. ๖๔ นรม.Johnson ได้กล่าวปิด กปช. COP26 และกล่าวถึงผลสำเร็จในการบรรลุข้อตกลง “Glasgow Climate Pact”[6] ที่สำคัญคือ ๑๙๖ ปท. ลงนามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ ๔๕ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และปล่อยก๊าซสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ (Net Zero 2050) เพื่อเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียสตลอดจนคำมั่นอื่น ๆ อาทิ (๑) ปท. จำนวน ๖๕ ปท. ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และยกเลิกการสนับสนุนด้านเงินทุนในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ (๒) มากกว่า ๓๐ ปท. ให้คำมั่นสัญญาที่จะผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดหลักของโลกภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๕ และในตลาดทั่วโลกภายใน ค.ศ. ๒๐๔๐ (๓) การระดมเงินทุนจากทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกจำนวนเกือบ ๗.๕ หมื่นล้านปอนด์ (เป้าหมาย ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี) เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อ สวล. ใน ปท. กำลังพัฒนา และ (๔) มากกว่า ๑๓๐ ปท. (คิดเป็นมากกว่าร้อยละ ๙๐ ของพื้นที่ป่าไม้ของโลก) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ทั้งนี้ ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ สอ. ได้รับเลือกให้เป็น ปธ. กปช. COP26 สอ. มุ่งเน้นในการผลักดันและเรียกร้องให้ ปท.ต่าง ๆ ดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกว่าร้อยละ ๘๐ ของ ปท.ทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาในการดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero จากเดิมมีเพียงร้อยละ ๓๐ ของ ปท. ทั่วโลกเท่านั้นจึงสะท้อนบทบาทนำของ สอ. ในด้าน สวล. ได้อย่างดี
๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
๓.๑ ข้อมูลของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ.[7] (Office for National Statistics - ONS) ระบุว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่สามขยายตัวเพียงร้อยละ ๑.๓ เทียบกับไตรมาสที่สองที่ขยายตัวร้อยละ ๕.๕ (ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๒.๑)โดยการออกจากล็อกดาวน์ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ ปชช. จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นสะท้อนจากการขยายตัวของภาคบริการและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัจจัยหนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีการซื้อขายบ้าน (stamp duty holiday) ที่เพิ่งสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. ๖๔ อย่างไรก็ดี ปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมรถยนต์ กอปรกับผลกระทบด้านแรงงานจากมาตรการกักตนเองกรณีได้รับการแจ้งเตือนจาก NHS Track and Trace (pingdemic) ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. เป็นปัจจัยสำคัญที่เหนี่ยวรั้งให้ภาพรวมของ ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่สามนี้เติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าปัจจัยปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานที่คาดว่าจะยืดเยื้อต่อไป กอปรกับการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน มาตรการลดหย่อนทางภาษี และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลงทำให้ ศก. สอ. มีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีและต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้าซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England - BoE) ที่มองว่าการชะลอตัวทาง ศก. สอ. ในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่จะอยู่ในระดับร้อยละ ๑.๕ และร้อยละ ๑ ตามลำดับ
๓.๒ ข้อมูลจาก บ. Kantar[8]ระบุว่า ราคาสินค้าประเภทอาหารในเดือน ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ๖๓ มาอยู่ที่ร้อยละ ๒.๑ โดยเฉพาะอาหารประเภทขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม ซึ่งมีปัจจัยจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน รวมถึงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บ. Kantar ให้ข้อมูลว่า ปชช. จำนวนมากได้ซื้อสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสบางรายการล่วงหน้าแล้ว เช่น ไก่งวง/ไก่แช่แข็ง(มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) mince pie และ Christmas pudding เนื่องจากกังวลว่าอาจเกิดกรณีปัญหาสินค้าขาดแคลนขึ้น ทั้งนี้ องค์กร UK Hospitality คาดว่าร้านอาหาร ผับ บาร์ และโรงแรมอาจมีการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าของตนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีนี้[9] ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและกำลังมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพของ ปชช. มากขึ้น จึงเริ่มมีกระแสกดดันให้ BoE พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในภาพรวม
[1]https://www.bbc.co.uk/news/business-59231186
[2]https://www.tescoplc.com/news/2021/tesco-strengthens-environmental-standards-for-its-growers-with-adoption-of-global-leaf-marque-standard/
[3]https://www.theguardian.com/business/2021/nov/10/uk-firms-offer-up-to-2000-sign-on-bonuses-amid-christmas-labour-shortage
[4]https://www.ukri.org/news/over-200-million-grant-to-rolls-royce-small-nuclear-reactors/
[5] https://www.gov.uk/government/news/pm-launches-new-initiative-to-take-green-industrial-revolution-global?utm_medium=email&utm_campaign=govuk-notifications&utm_source=e03e5162-8b39-4231-b656-f86e2eb1dae4&utm_content=immediately
[6]https://www.gov.uk/government/news/pm-glasgow-climate-pact-keeps-critical-15c-global-warming-goal-alive
[7]https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpfirstquarterlyestimateuk/julytoseptember2021
[8]https://www.kantar.com/inspiration/fmcg/2021-wp-new-baseline-for-uk-grocery-market-as-shopper-habits-stabilise
[9]https://news.sky.com/story/steep-price-rises-coming-to-restaurants-and-bars-after-christmas-industry-boss-warns-12464893