สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ธ.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ธ.ค. 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,667 view

๑. ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
   
๑.๑ การขนส่งสินค้า รปท. ปัจจัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบใน สอ. ทำให้ก่อนหน้านี้มากกว่า ๕๐ ประเทศ (ส่วนใหญ่เป็น ปท. ในยุโรป) เช่น เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ออกประกาศปิดพรมแดนและห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก สอ. ผ่านเข้ามาใน ปท. ของตนอย่างกระทันหัน ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง รปท. โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่าง สอ. – ฝรั่งเศส ทำให้เกิดการชะงักงันที่ด่านท่าเรือ Dover ของ สอ. โดยมีคิวสะสมของรถขนส่งสินค้าในข่วงวันที่ ๒๑ - ๒๓ ธ.ค. ๖๓ เกือบ ๑๐,๐๐๐ คัน อย่างไรก็ดี เมื่อค่ำวันที่ ๒๒ ธ.ค. ๖๓ รบ. สอ. และฝรั่งเศสสามารถบรรลุข้อตกลงกันเพื่อคลี่คลายการปิดด่านดังกล่าว โดยฝรั่งเศสอนุญาตให้คนชาติในยุโรปและชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในฝรั่งเศสหรือผู้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงรถขนส่งสินค้า สามารถเดินทางเข้าฝรั่งเศสได้ โดยต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดที่เป็นลบที่มีอายุไม่เกิน ๗๒ ชม. ทั้งนี้ รบ. สอ. ได้เร่งตั้งจุดให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสที่แสดงผลตรวจภายใน ๓๐ นาทีที่สนามบิน Manston และพื้นที่ใกล้เคียงในเมือง Kent เพื่อช่วยระบายการขนส่ง รปท. ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังทำให้เกิดสภาวะการกักตุนสินค้าใน สอ. ในระยะสั้นด้วย โดยซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เช่น Sainsbury’s และ Tesco ได้ออกประกาศเตือน ปชช. ไม่ให้ซื้อเกินความจำเป็นและใช้มาตรการจำกัดจำนวนการซื้อสินค้าบางรายการเพื่อให้ ปชช. ส่วนใหญ่ได้รับสินค้าอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันสภาวะดังกล่าวได้คลี่คลายแล้วแต่ยังปรากฏว่าสินค้าจำเป็นบางรายการยังขาดตลาดโดยคาดว่าเกิดจากการหยุดทำการของภาคการขนส่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต่อเนื่องปีใหม่
    ๑.๒ การส่งออก กระทรวง สวล. อาหารและกิจการชนบท (Department for Environment, Food and Rural Affairs - DEFRA) เปิดเผยข้อมูลว่า ฝ่าย EU ได้อนุญาตสถานะ third country listing (การยอมรับมาตรฐานสินค้าของ ปท. นอก EU) ให้แก่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของ สอ. ประเภทเกษตรกรรม ให้เข้าสู่ตลาด EU ได้ต่อไปไม่ว่าจะมี คตล. การค้าระหว่างกันหรือไม่ก็ตาม แต่ยังคงห้ามการนำเข้ามันฝรั่งเพื่อการขยายพันธุ์ (potato seeds) เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการวางกฎระเบียบให้สอดคล้องกันได้ ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่ รบ. แคว้นสกอตแลนด์ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของอุตสาหกรรมส่งออก potato seeds และทำให้ สอ. (เกาะบริเตนใหญ่) ไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งยังอยู่ภายใต้ EU Single Market หลัง Brexit ด้วย [1] ในขณะที่สมาคมผู้แปรรูปเนื้อสัตว์ของอังกฤษ (British Meat Processors Association – BMPA) แสดงความกังวลต่อเงื่อนไขในการส่งออกใหม่ตาม คตล. ทางการค้าระหว่าง สอ. – EU หลัง Brexit ที่ระบุว่า สอ. ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสดสับ (raw minced meats) เช่น ไส้กรอก เนื้อวัวสับ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากนมหรือชีสที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ไปยัง EU ได้อย่างเสรีหลังสิ้นสุดช่วง transition period โดยผู้ประกอบการ สอ. บางส่วนได้หันไปผลิตสินค้าดังกล่าวในลักษณะแช่แข็งเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่แล้ว แม้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แต่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของ สอ. ทั้งนี้ สอ. เป็น ปท. เดียวใน EU ที่ผลิตและส่งออกไส้กรอกสด อย่างไรก็ดี คตล. ดังกล่าวมิได้ห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจาก สอ. ไปยังไอร์แลนด์เหนือ [2]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ ด้านการศึกษา . ศธ. สอ. (Department for Education – DfE) ประกาศจัดตั้งโครงการ Turing Scheme [3] ซึ่งเป็นโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของ สอ. เพื่อทดแทนโครงการ Erasmus exchange programme ของ EU หลังการสิ้นสุด transition period ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๓ โดยมีแผนจัดสรรทุนการศึกษาประจำปี ๖๔ – ๖๕ (ก.ย. ๖๔ เป็นต้นไป) มูลค่ากว่า ๑๐๐ ล้านปอนด์ ให้แก่นักศึกษาจำนวน ๓๕,๐๐๐ ราย โดยบุคคลที่ได้รับทุนฯ จะสามารถเข้าศึกษาหรือทำงานได้ในสถาบันหรือองค์กรทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการ และได้เปิดให้สถาบันการศึกษาของ สอ. ที่มีความร่วมมือด้านการศึกษากับสถาบันใน ตปท. สามารถสมัครเข้าร่วมในโครงการแล้ว ทั้งนี้ รบ. สอ. ตัดสินใจถอนตัวจากโครงการ Erasmus เนื่องจากเห็นว่าฝ่าย สอ. เสียเปรียบและใช้ งปม. จำนวนมาก โดยสถิติในปีที่ผ่านมาพบว่า มี นศ. สอ. เข้าร่วมประมาณ ๑๗,๐๐๐ คน ในขณะที่มี นศ. EU เข้ามา สอ. ประมาณ ๓๒,๐๐๐ คน อีกทั้งโครงการ Turing Scheme จะเป็นเครื่องมือสำคัญในนโยบายลดความเหลือมล้ำทาง ศก. และสังคมใน สอ. ด้วย ทั้งนี้ นศ. ไอร์แลนด์เหนือสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ Erusmus ของ EU ได้ต่อไปตาม คตล. ระหว่างไอร์แลนด์กับ EU หรือ Turing Scheme ของ สอ. (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
     ๒.๒ การค้า รปท. หลัง Brexit ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) ประกาศความสำเร็จของ สอ. ในการลงนาม คตล. คงสภาพการค้าระหว่าง สอ. กับตุรกี และ สอ. กับอียิปต์ ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับ คตล. การค้าที่ ปท. ทั้งสองมีกับ EU ซึ่งจะมีผลให้สินค้านำเข้าของ สอ. ไปยังตุรกีและอียิปต์ได้รับอัตราภาษีพิเศษแบบเดิม โดยจะช่วยปกป้องธุรกิจส่งออกเครื่องจักรและเหล็ก และรักษาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตและยานยนต์ของ สอ. ในตุรกี ตลอดจนรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรกรรมของ สอ. ในอียิปต์ไว้ได้ ทั้งนี้ มูลค่าการค้า สอ. - ตุรกีคิดเป็นประมาณ ๑๘.๖ พันล้านปอนด์ต่อปี ในขณะที่การค้า  สอ. – อียิปต์มีมูลค่าประมาณ ๒.๓ พันล้านปอนด์ต่อปี ทำให้ขณะนี้ สอ. สามารถบรรลุ คตล. การค้ากับ ปท. นอก EU ได้แล้วรวม ๖๓ ปท. และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก ๙ ปท. ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อัลเบเนีย แอลจีเรีย บอสเนียฯ กานา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย [4]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๓.๑ ข้อมูลจากสนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า ยอดขายภาคค้าปลีกโดยรวมของเดือน พ.ย. ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ ๗ เดือน ในอัตราร้อยละ ๓.๘ ซึ่งมีปัจจัยจากการล็อกดาวน์รอบที่สอง (๕ พ.ย. - ๒ ธ.ค. ๖๓)  โดยส่งผลกระทบต่อยอดขายเสื้อผ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด อย่างไรก็ดี ยอดขายโดยรวมของเดือน พ.ย. ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ (ก.พ. ๖๓) โดยปริมาณการซื้อสินค้าออนไลน์ในเดือน พ.ย. อยู่ที่ร้อยละ ๓๑.๔ เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ร้อยละ ๒๘.๖) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ปชช. เร่งซื้ออาหารและของขวัญสำหรับเทศกาลคริสต์มาสล่วงหน้า กอปรกับมีปัจจัยกระตุ้นจากการจัดโปรโมชันลดราคาในช่วงเทศกาล Black Friday Sale ของร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจของนิตยสาร Top Product Survey ในรอบ ๑ ปี (ก.ย. ๖๒ - ก.ย. ๖๓) สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค กล่าวคือ ปชช. นิยมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากซุปเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น (เพราะไม่สามารถบริโภคในร้านอาหารได้) โดยมียอดจำหน่ายเบียร์ (lager) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๒๐ หรือคิดเป็นมูลค่า ๘๐๐ ล้านปอนด์ และยอดขายของไวน์เพิ่มขึ้น ๗๑๗ ล้านปอนด์ ในขณะที่ยอดขายเครื่องสำอางลดลงร้อยละ ๒๒ เป็นต้น
    ๓.๒ สมาคมการค้าปลีก สอ. (British Retail Consortium - BRC) ให้ความเห็นว่า มาตรการข้อจำกัดทางสังคมในอังกฤษ กอปรกับการล็อกดาวน์ในเวลส์และสกอตแลนด์ที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาล Boxing Day Sale ในปี ๒๕๖๓ ส่งผลให้ภาคธุรกิจค้าปลีกสูญเสียรายได้เพิ่มเติมอีกกว่า ๒ พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ โดยข้อมูลล่าสุดจาก บ. Springboard รายงานว่า จำนวน ปชช. ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยโดยรวมในวันที่ ๒๖ ธ.ค. (Boxing Day) มีจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้วกว่าร้อยละ ๖๐ โดยในพื้นที่ tier 4 ลดลงร้อยละ ๗๖ ในขณะที่พื้นที่ tier 2 และ tier 3 ลดลงร้อยละ ๓๓.๑ และ ๓๘.๕ ตามลำดับ ทั้งนี้ ย่านค้าปลีกใจกลางกรุงลอนดอนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ รายงานการประเมินทาง ศก. ของ . Resolution Foundation [5] ระบุว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดขั้นสูงสุด tier 4 ซึ่งคาดว่าอาจมีการบังคับใช้จนถึงเดือน มี.ค. ๖๔ จะทำให้ ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งหดตัวลงร้อยละ ๖ ส่งผลให้ ศก. สอ. โดยรวมในปี ๖๔ ขยายตัวเพียงร้อยละ ๔.๓ ต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ของ Office for Budget Responsibility (OBR) ที่อยู่ในอัตราร้อยละ ๕.๕
                    
. ความคืบหน้าของ Brexit
    ๔.๑ เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๖๓ นรม. Boris Johnson กล่าวถ้อยแถลงผ่านสื่อมวลชนว่า สอ. – EU สามารถบรรลุ คตล. ทางการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement [6]) ร่วมกันได้สำเร็จซึ่งถือเป็น คตล. ทางการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าประมาณ ๖.๖ แสนล้านปอนด์ต่อปี และเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการสร้าง คสพ. ใหม่สำหรับ สอ. กับ EU หลังสิ้นสุด transition period ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๓ โดยปัจจุบันร่าง คตล. ดังกล่าวผ่านการลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนของ EU ทั้ง ๒๗ ประเทศ และจากรัฐสภา สอ. แล้วและมีผลบังคับใช้ต่อจากการสิ้นสุด transition period โดยทันที
          อนึ่ง คตล. ดังกล่าวมีรายละเอียดประมาณ ๒,๐๐๐ หน้าครอบคลุมการยกเว้นภาษีสินค้าเข้าออกระหว่างทั้งสองฝ่ายแทบทุกรายการ รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การบิน รปท. การขนส่ง และความมั่นคง อีกทั้งยังถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการเจรจาหารือเกี่ยวกับ คสพ. ทางการค้า สอ. – EU หลัง Brexit ที่ดำเนินมายาวนานถึง ๔ ปีครึ่ง (ตั้งแต่การลงประชามติในเดือน มิ.ย. ๕๙) และถือเป็นการสิ้นสุดสถานะการเป็นสมาชิก EU ของ สอ. ที่ยาวนานถึง ๔๗ ปี
    ๔.๒ คตล. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นไป โดยสื่อมวลชน สอ. ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์การสัญจรที่ด่านท่าเรือ Dover มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าการสัญจรเบาบางกว่าที่คาดหมายไว้และไม่เกิดการติดขัดแต่อย่างใด (ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้เร่งนำเข้า-ส่งออกไปมากแล้วก่อนสิ้นสุด transition period) ทั้งนี้ นาย Grant Shapps รมว. คค. ให้ข้อมูลทางทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องถึงสถานการณ์การสัญจรที่ด่านท่าเรือ Dover โดยระบุว่า มีรถบรรทุกผ่านออกไปยังฝรั่งเศสแล้วประมาณ ๓๕,๐๐๐ คันตั้งแต่เริ่มข้ามแดนได้เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๖๓ เป็นต้นมา และตรวจพบคนขับที่มีเชื้อโควิดไม่เกินร้อย ๐.๕ เท่านั้น นอกจากนี้ สอ. กับ EU ได้บรรลุข้อตกลงในการยอมรับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งกันและกันด้วยแล้ว จึงทำให้การขนส่งและสัญจรระหว่างกันสะดวกมากขึ้น
    ๔.๓ การที่ รบ. สอ. หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด No-deal Brexit ได้ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อ ศก. สอ. ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ ๔ ม.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดทำการเต็มวันเป็นวันแรกหลัง Brexit ของตลาดหุ้น สอ. ปรากฏว่า  ดัชนีตลาดหุ้น FTSE 100 และ FTSE 250 ปรับตัวขึ้นอีกร้อยละ ๑.๗๓ และร้อยละ ๐.๙๘ ตามลำดับหลังจากการปิดตลาดก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คตล. การค้า สอ. – EU ในปัจจุบันที่ยังไม่ครอบคลุมถึงการเปิดตลาดสินค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของ สอ. ทำให้ภาคการเงินยังมีความกังวลต่อผลกระทบในระยะยาวต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของ สอ. หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับ Equivalence (การยอมรับกฎระเบียบทางการเงินระหว่างกัน) ได้ในเร็ววันนี้
                    
. ผลกระทบต่อไท
    
ขณะนี้ สอ. พ้นจากการเป็นสมาชิก EU โดยสมบูรณ์แล้วและได้เริ่มบังคับใช้ระบบศุลกากรและอัตราภาษีนําเข้าของตนมาตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นมา โดย สนง. นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พณ. ของไทย [7] คาดการณ์ว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของ สอ. ที่จะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากกว่า EU ซึ่งได้แก่ นโยบายภาษี UK Global Tariff (UKGT) ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสในการส่งออกสินค้ามายัง สอ. มากขึ้น เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีผลยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากไทยทั้งหมด ๑,๕๒๔ รายการ (จากเดิมเพียง ๗๙๒ รายการภายใต้นโยบายภาษีของ EU) ซึ่งคาดว่าจะทำให้ไทยเสียภาษีนำเข้าลดลงจากเดิมประมาณ ๑๒๐ ล้านปอนด์ เป็น ๑๐๐ ล้านปอนด์ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลและกฎระเบียบใหม่เพื่อปรับกลยุทธ์ให้มีความพร้อมในการแข่งขันในตลาด สอ. เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรศึกษาผลกระทบระยะสั้นและยาวจากการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงทางการค้าในสาขาต่าง ๆ ระหว่างสอ. – EU ที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของไทยที่เกี่ยวข้องกับเอกชน สอ. ที่เป็นคู่ค้าของตน เพื่อปรับตัวให้ได้ผลกระทบน้อยที่สุด

 

[1] https://www.bbc.co.uk/news/business-55433319
[2] https://www.gov.uk/government/collections/guidance-on-importing-and-exporting-live-animals-or-animal-products
[3] https://www.gov.uk/government/news/new-turing-scheme-to-support-thousands-of-students-to-study-and-work-abroad
[4] https://www.gov.uk/guidance/uk-trade-agreements-with-non-eu-countries
[5] https://www.resolutionfoundation.org/publications/macroeconomic-policy-outlook-q4-2020/
[6] https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/948119/EU-UK_Trade_and_Cooperation_Agreement_24.12.2020.pdf
[7] https://www.kaohoon.com/content/409639