สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 มี.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 มี.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,128 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ การส่งออก Food and Drink Federation (FDF) ได้วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกของ สอ. ไปยัง EU ย้อนหลังในรอบปีจากหน่วยงาน HM Revenue and Customs (HMRC) พบว่าในเดือน ม.ค. ๖๔ ปัจจัย Brexit และอุปสงค์ที่อ่อนแอลงในยุโรปทำให้ยอดการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโดยรวมลดลงร้อยละ ๗๕.๕ (จากมูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ เป็น ๒๕๖ ล้านปอนด์) โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ วิสกี (จาก ๑๐๕ ล้านปอนด์ เป็น ๔๐ ล้านปอนด์) ชีส (จาก ๔๕ ล้านปอนด์ เป็น ๗ ล้านปอนด์) และช็อกโกแลต(จาก ๔๑.๔ ล้านปอนด์ เป็น ๑๓ ล้านปอนด์) ในส่วนของผลิตภัณฑ์จากสัตว์พบว่ายอดการส่งออกเนื้อวัวลดลงมากถึงร้อยละ ๙๒ (จาก ๔๐ ล้านปอนด์ เป็น ๓ ล้านปอนด์) ในขณะที่การส่งออกเนื้อหมูลดลงร้อยละ ๘๗ เนื้อแกะและเนื้อแพะลดลงร้อยละ ๔๕ ๖ เนื่องจาก Brexit ทำให้ขั้นตอนการส่งออกเนื้อสัตว์จาก สอ. ไปยังโรงงานแปรรูปใน EU ต้องผ่านกระบวนการและใช้เอกสารกว่า ๒๖ ขั้นตอน (ข้อมูลจากคู่มือของกระทรวง สวล. อาหาร และกิจการชนบท –DEFRA[1]) โดย บ. Helen Browning’s Organic บริษัทสัญชาติบริติชเจ้าของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกออร์แกนิกที่ทำจากเนื้อวัวและเนื้อหมูรายใหญ่ซึ่งมียอดขายประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ถุงต่อปีใน สอ. จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้เนื้อหมูจากเดนมาร์กในการผลิตที่โรงงานในเยอรมนีแทนเนื้อหมูที่นำเข้าจาก สอ. จากผลของปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ข้อมูลของ HMRC และ สนง. สถิติแห่งชาติ (ONS) ยังสะท้อนให้เห็นตรงกันว่า ยอดการส่งออกในภาพรวมในช่วงเดือน ม.ค. ๖๔ ของ สอ. ลดลงมากกว่าร้อยละ ๔๐ [2] โดยสินค้าประเภท agrifood ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการต้องสำแดงเอกสารสุขภาพพืชและสัตว์ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะส่วนใหญ่มองว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง คสพ. การค้าใหม่ระหว่าง สอ. กับ EU โดยเกิดจากปัจจัยการกักตุนสินค้าจำนวนมากในช่วงปลายปีที่แล้วและการล็อกดาวน์ในหลาย ปท. ยุโรป
    ๑.๒ การประมง ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ ผู้ส่งออกสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก (Shellfish) แบบพร้อมรับประทานจาก สอ. ไปยัง EU ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการนำเข้าจาก ปท. ที่สาม ส่งผลให้สินค้าดังกล่าวจากแหล่งน้ำที่สะอาดระดับ Class A และมีเอกสารรับรองสุขอนามัยแล้วเท่านั้นจึงจะส่งออกไปยัง EU ได้ แต่โดยที่แหล่งประมงใน สอ. เกือบทั้งหมดจัดเป็นแหล่งน้ำ Class B ของ EU ทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวหยุดชะงักเกือบทั้งหมดกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบทของ สอ. (DEFRA) ให้ข้อมูลว่า EU ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนข้อกำหนดดังกล่าวสำหรับสินค้านำเข้าจาก สอ. (เดิมคาดว่าอาจสิ้นสุดในวันที่ ๒๑ เม.ย. ๖๔) ซึ่งนาย George Eustice รมว. DEFRA กล่าวเตือนให้ผู้ประกอบการ สอ. เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ใน ปท. non-EU แทนหรือปรับวิธีการเลี้ยงหรือการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรการของ EU เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว รวมทั้งได้ประกาศปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit (Seafood Response Fund) ให้ครอบคลุมผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำประเภทนี้ด้วยโดยจะได้รับเงินช่วยเหลือในการปรับตัวสูงสุดรายละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ปอนด์ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์ม[3] ในขณะที่ภาคธุรกิจส่งออกสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกในเขต Cumbria ของอังกฤษได้เรียกร้องให้ รบ. สอ. ปรับเปลี่ยนระบบการตรวจวัดคุณภาพน่านน้ำประมงของ สอ. และทำความสะอาดชายฝั่ง สอ. ให้ได้ตามมาตรฐานของ EU เป็นต้น

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ ห้างสรรพสินค้า John Lewis ประกาศปิดกิจการถาวรจำนวน ๘ แห่งใน สอ. ได้แก่ กิจการในเมือง Ashford, Tunbridge Wells, Basingstoke, Chester, Aberdeen, Peterborough, Sheffield และ York โดยมีปัจจัยจากวิกฤตโควิด กอปรกับผลประกอบการของสาขาเหล่านี้ก่อนหน้าวิกฤตโควิดอยู่ในระดับต่ำด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๑,๔๖๕ ตำแหน่ง โดยบริษัทมีแผนลงทุนขยายการให้บริการ click and collect ตามสาขาต่าง ๆ ของซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose รวมถึงร้านค้าอื่น ๆ ในเครือในบริเวณที่ไม่มีห้าง John Lewis เพื่อชดเชยการปิดสาขาและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่สั่งสินค้าออนไลน์จาก John Lewis ซึ่งมีสัดส่วนอยู่มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของลูกค้าทั้งหมด  คาดว่ายอดขายออนไลน์ของห้างภายในช่วง ๔ ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๖๐-๗๐ ของยอดขายทั้งหมด ทั้งนี้ การลดจำนวนสาขาและขยายช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ถือเป็นแนวโน้มที่กิจการขายปลีกทั้งหมดใน สอ. ต่างกำลังดำเนินการเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและลดค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
    ๒.๒ ธนาคาร Santander ประกาศปิดกิจการจำนวน ๑๑๑ แห่งทั่ว สอ. ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ พนง. จำนวน ๘๔๐ ตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อรองรับแนวโน้มที่ลูกค้านิยมทำธุรกรรมทางออนไลน์และผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นในระยะยาว โดยจำนวนผู้ใช้บริการในสาขาต่าง ๆ ลดลงตลอดช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนลูกค้าใช้บริการที่สาขาลดลงถึงร้อยละ ๕๐ ในขณะที่จำนวนการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ต่อปี นอกจากนี้ Santander ยังมีแผนจะย้าย สนง. ใหญ่จากกรุงลอนดอนไปยังเมือง Milton Keynes และจะปิด สนง. ในกรุงลอนดอน แมนเชสเตอร์และนิวคาสเซิลภายในปีนี้เพื่อลดรายจ่ายด้านสถานที่ด้วย ซึ่งจะกระทบกับ พนง. อีกประมาณ ๕,๐๐๐ ตำแหน่งที่จะเปลี่ยนไปทำงานจากบ้านหรือย้ายไปยัง สนง. อื่นที่เหลืออยู่ ในขณะที่ Nationwide ได้ประกาศปิด สนง. จำนวน ๒ แห่ง (จากทั้งหมด ๕ แห่ง) ในเมือง Swindon ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สนง. ใหญ่จากการที่มีจำนวนผู้มาใช้บริการในสาขาลดลงเช่นกัน รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมความยืดหยุ่นในการให้ พนง. ทำงานจากที่ใดก็ได้ในระยะต่อไป โดยรายงานการสำรวจของ Nationwide ระบุว่า พนง. ร้อยละ ๕๗ ต้องการทำงานที่บ้านหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ร้อยละ ๓๖ ต้องการทำงานที่บ้านและที่ สนง.ควบคู่ไปด้วย (Hybrid model) ทั้งนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ใน สอ. มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนสาขาลงและหลายรายสนับสนุนการทำงานแบบผสม (Hybrid) เพื่อสร้างความยืดหยุ่นหากต้องมีการล็อกดาวน์อีกในอนาคต

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค. ๖๔ นาย Kwasi Kwarteng รมว. ก. ธุรกิจ พลังงานและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (BEIS) ประกาศแผน “Industrial Decarbonisation Strategy”[4] มูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม โรงเรียน รพ. และบ้านพักอาศัยของรัฐลงให้ได้ในสัดส่วน ๒ ใน ๓ ภายในเวลา ๑๕ ปี แผนดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบาย 10 Point Plan for a Green
Industrial Revolution[5] ของ รบ. สอ. ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ โดยคาดว่าจะทำให้ สอ. เป็นผู้นำด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการสร้างงานเพิ่มประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตำแหน่งในระยะเวลา ๓๐ ปีข้างหน้า โดยมีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่ การให้เงินสนับสนุนจำนวน ๑๗๑ ล้านปอนด์แก่โครงการด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ๙ โครงการในสกอตแลนด์ ภาคใต้ของเวลส์ บริเวณเขต Humber เขต Teeside และภาค ตต. เฉียงเหนือของอังกฤษ เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนให้เงินสนับสนุนจำนวน ๙๓๒ ล้านปอนด์สำหรับ ๔๒๙ โครงการในอังกฤษภายใต้ Public Sector Decarbonisation Scheme (PSDS) เพื่อปรับปรุงและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ทำความร้อนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในอาคาร สนง. และบ้านพักอาศัยในการดูแลของรัฐ เป็นต้นทั้งนี้ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมและภาคประชาสังคมใน สอ. มีแนวโน้มตอบรับนโยบายดังกล่าวด้วยดีและเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของ รบ. สอ. เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการลงทุนด้าน วทน. และด้าน สวล. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
    ๓.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. ๖๔ นาง Liz Truss รมว. ก. การค้า รปท. ประกาศแผนการจัดตั้ง สนง. ส่งเสริมการค้าและการลงทุนจำนวน ๔ แห่งในเมือง Edinburg, Cardiff, Belfast และ Darlington (ภาค ตอ. เฉียงเหนือของอังกฤษ)[6] เพื่อกระตุ้น ศก.และกระจายความเจริญทั่ว สอ. โดยมุ่งเน้นการส่งออกไปยัง ปท. non-EU เช่น ปท. กลุ่ม CPTPP สหรัฐฯ และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างงานทั้งหมด ๕๕๐ ตำแหน่งภายในปี ๒๕๖๘ (และ ๗๕๐ ตำแหน่งภายในปี ๒๕๗๓) ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจที่จัดทำโดย รบ. สอ. เมื่อต้นเดือน มี.ค. ๖๔ ระบุว่า อัตราการจ้างงานในภาคธุรกิจการส่งออกมีทั้งหมดประมาณ ๖.๕ ล้านตำแหน่งใน สอ. โดยร้อยละ ๗๔ เป็นการจ้างงานบริเวณนอกกรุงลอนดอน นอกจากนี้ อัตราค่าจ้างในภาคธุรกิจส่งออกยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยของ สอ. ถึงร้อยละ ๗ ด้วย

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    ๔.๑ สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[7]รายงานว่า อัตราการจ้างงานใน สอ. เพิ่มขึ้นเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ ตำแหน่งในช่วงเดือน ธ.ค. ๖๓ - ก.พ. ๖๔ ทำให้อัตราการว่างงานทางการในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ ๕ (ลดลงจากร้อยละ ๕.๑ ที่เคยประเมินในเดือน ม.ค. ๖๔) โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ที่ช่วยพยุงอัตราการว่างงานไม่ให้เพิ่มขึ้นและจากการที่ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับมาตรการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการจ้างงานในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเดือน ก.พ. ๖๓ (ช่วงก่อนวิกฤตโควิด) ถึง ๖๙๓,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยภาคธุรกิจ Hospitality และธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยมีการจ้างงานลดลงประมาณ ๔๙๑,๐๐๐ ตำแหน่ง ในขณะที่แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี
    ๔.๒ รายงานอีกฉบับของ ONS [8]ระบุว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกในเดือน ก.พ. ๖๔ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ๖๔ ร้อยละ ๒.๑ แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ช่วงก่อนวิกฤตโควิด) ร้อยละ ๓.๗ โดยยอดขายเฟอร์นิเจอร์/อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสวน รวมถึงยอดขายของร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่มีราคาย่อมเยา เช่น B&M Bargains และ Wilko ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ปชช. ปรับแต่งพื้นที่ในบ้านสำหรับรองรับมาตรการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ ยอดขายออนไลน์ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ ๓๖.๑ ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยปรับตัวลดลงร้อยละ ๕๐.๔ และร้อยละ ๒๖.๕ ตามลำดับ

. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
    ๕.๑ เมื่อวันที่ ๒๙ มี.ค. ๖๔ กระทรวงการค้า ตปท. สอ. (DIT)[9] ได้ประกาศผลสำเร็จของการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้าน ศก. และ การค้าระหว่างไทย - สอ. (Joint Economic and Trade Committee - JETCO) ซึ่งนับเป็น คกก. JETCO แรกของ สอ. ในรอบ ๑๐ ปี โดยนาง Liz Truss รมว. DIT ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้ง JETCO ทางออนไลน์ร่วมกับรอง นรม./รมว. พณ. ของไทย (ซึ่ง ออท. ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานทางออนไลน์ตามคำเชิญของ DIT ด้วย) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการขยาย คสพ. ทางการค้ากับไทยหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปการจัดทำ Joint Trade Policy Review ร่วมกันได้ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการประชุม JETCO ครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ ทั้งนี้ สาระสำคัญของ Joint Trade Policy Review ได้สะท้อนความมุ่งมั่นร่วมกันในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและกระตุ้นการนำเข้าส่งออกระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ประมงอาหารและเครื่องดื่ม และเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับอนาคต เช่น ด้านการเงิน การบริการสุขภาพ และเทคโนโลยี 
          อนึ่ง การจัดตั้ง JETCO ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเจรจา คตล. การค้าเสรีระหว่างไทย-สอ. ต่อไปในอนาคต โดย สอ. มองว่าไทยเป็นหนึ่งใน ปท. คู่ค้าสำคัญและเป็นศูนย์กลางธุรกิจในอาเซียนที่มีมูลค่าการค้าสองฝ่ายประมาณ ๕ พันล้านปอนด์ต่อปี (ในช่วงเวลาปกติ) ทั้งนี้ สอท. จะร่วมกับ สคต.ฯ ในการผลักดัน DIT สอ. เพื่อขับเคลื่อน JETCO ซึ่งกระทรวงฯ อาจพิจารณาประสานติดตามกับ จนท. จาก DIT ที่ประจำอยู่ใน สอท. สอ./ปทท. เพื่อผลักดันอีกทางหนึ่งในโอกาสที่เหมาะสม
    ๕.๒ บ. Unibail-Rodamco-Westfield เจ้าของห้างสรรพสินค้า Westfield ใน สอ. ได้ทำการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคโดยพบว่า ผู้บริโภคใน สอ. ให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลสินค้าทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ และคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจค้าปลีกในอนาคตในลักษณะที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาช่องทาง ปชส. สินค้าทางออนไลน์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ในร้านค้าเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีของลูกค้าแทนการเน้น ปชส. ตัวสินค้าเช่นในอดีต นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลด carbon footprint ในผลิตภัณฑ์จะกลายเป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการจะรักษาภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และยี่ห้อให้สอดคล้องกับรสนิยมของตลาดใหม่เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จได้ต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยควรต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในตลาด สอ. ในอนาคต

 

[1]https://www.food.gov.uk/sites/default/files/media/document/chapter-3-imported-and-exported-meat-and-animals_1.pdf
[2]https://www.fdf.org.uk/globalassets/resources/publications/uk-eu-food-and-drink-trade-snapshot-jan-2021.pdf
[3]https://www.gov.uk/guidance/seafood-response-fund
[4]https://www.gov.uk/government/news/major-blueprint-to-create-green-jobs-and-slash-emissions-from-industry-schools-and-hospitals
[5]https://www.gov.uk/government/publications/the-ten-point-plan-for-a-green-industrial-revolution/title
[6]https://www.gov.uk/government/news/liz-truss-announces-creation-of-four-major-new-trade-and-investment-hubs-across-the-uk
[7]https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/employmentintheuk/march2021
[8]https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/february2021
[9]https://www.gov.uk/government/news/uk-and-thailand-commit-to-strengthening-trade-ties