สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ส.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 31 ส.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.ย. 2565

| 1,184 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ การขนส่งสินค้า พนง. ของท่าเรือ Felixstowe ในเมือง Suffolk ของอังกฤษ ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน Unite ที่ดูแลสวัสดิการแรงงานของท่าเรือรวมกว่า ๑,๙๐๐ คน (จากทั้งหมด ๒,๕๐๐ คน) นัดประท้วงหยุดงานตามความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ (industrial action) เป็นเวลา ๘ วันติดต่อกัน (จนถึงวันที่ ๒๙ ส.ค.) เพื่อขอปรับขึ้นค่าแรงเนื่องจากไม่พอใจกับข้อเสนอการปรับขึ้นค่าแรงเพียงร้อยละ ๗ และเงินโบนัสจำนวน ๕๐๐ ปอนด์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ท่าเรือดังกล่าวเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของ สอ. รองรับการขนส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ ๔ ล้านตู้ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดใน สอ. โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าการหยุดงานประท้วงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของ สอ. โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมมูลค่าราว ๖๗๗ ล้านปอนด์ (หรือประมาณ ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคเนื่องจากภาคธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือ Dover แต่หากสถานการณ์ดังกล่าวยังยืดเยื้อออกไปก็อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมกับภาคการค้าปลีกในภาพรวมได้เช่นกัน ทั้งนี้ การนัดหยุดงานประท้วงในภาคขนส่งสาธารณะยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และมีแนวโน้มบ่อยครั้งมากขึ้นจากปัญหาค่าครองชีพ เช่น พนง. ขับรถโดยสารสาธารณะในกรุงลอนดอนประมาณร้อยละ ๒๐ หยุดงาน ๔๘ ชม. เมื่อช่วงวันที่ ๒๘ – ๒๙ ส.ค. ที่ผ่านมา และสหภาพแรงงาน Unite มีกำหนดนัดประท้วงหยุดงานในกลุ่ม พนง. ของท่าเรือเมือง Liverpool ด้วยแต่ยังไม่ได้กำหนดวัน[1]
    ๑.๒ อุตสาหกรรมการผลิต บ. CF Industries (บริษัทของสหรัฐฯ) ผู้ผลิตสารแอมโมเนียเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของ สอ. ประกาศแผนปิดโรงงานในเมือง Billingham ของอังกฤษชั่วคราว โดยมีปัจจัยจากการปรับขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว การปิดโรงงานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องให้การผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตแอมโมเนีย และถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มบางชนิดและการบรรจุเนื้อสัตว์ในบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของ สอ. ไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ และอาจต้องหยุดชะงักลงในอนาคตหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก รบ. สอ. ทั้งนี้ รบ. สอ. เคยให้เงินช่วยเหลือ CF Industries เพื่อประคับประคองการผลิตในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ มาครั้งหนึ่งแล้ว[2]
    ๑.๓ ธุรกิจการบริการ (Hospitality) บริษัทเจ้าของกิจการโรงกลั่นเบียร์และผับชั้นนำของ สอ. ๖ ราย ได้แก่ JW Lees, Carlsberg Marston's, Admiral Taverns, Drake & Morgan, Greene King และ St Austell Brewery ได้ลงนามใน จม. เปิดผนึกร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้ รบ. สอ. ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจบริการเกี่ยวกับวิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่องค์กรควบคุมราคาพลังงานของ สอ. (Ofgem) ประกาศปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือนอีกร้อยละ ๘๐ (จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ ๑,๙๗๑ ปอนด์/ปี เป็น ๓,๕๔๙ ปอนด์/ปีสำหรับผู้บริโภคที่เป็นครัวเรือน มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค. ๖๕ เป็นต้นไป[3]) ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการปรับขึ้นของต้นทุนพลังงานในภาคธุรกิจด้วยเนื่องจาก Ofgem ไม่ได้ควบคุมเพดานสำหรับผู้บริโภคที่เป็นธุรกิจ โดยมีข้อประเมินว่าผู้ประกอบการหลายแห่งทั่ว สอ. อาจต้องปิดกิจการเพิ่มเติมเนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่จะเพิ่มขึ้นมากถึง ๓ เท่าได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทำสำรวจในเดือน มิ.ย. ๖๕ โดย บ. Altus พบว่ามีผับที่เปิดกิจการใน สอ. รวมจำนวน ๓๙,๙๗๐ แห่ง ซึ่งลดลงจากในปี ๒๕๕๕ กว่า ๗,๐๐๐ แห่ง ในขณะที่ รบ. สอ. ยังไม่ได้ประกาศมาตรการชัดเจนที่จะช่วยผ่อนคลายผลกระทบอันอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมบริการและการฟื้นตัวของ ศก. ใน สอ. ในภาพรวมด้วย[4]
    ๑.๔ การจ้างงาน ข้อมูลการศึกษาของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS) พบว่า ตำแหน่งงานว่างในภาคธุรกิจบริการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗ ของการจ้างงานทั้งหมดของ สอ. ได้รับผลกระทบจาก Brexit และวิกฤตโควิด-๑๙ มากที่สุด โดยมีสถิติงานว่างสูงถึงร้อยละ ๗.๙ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดเทียบกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ใน สอ. นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจบริษัทในภาคธุรกิจบริการ ๒๕๐ แห่งของ สอ. ในเดือน ก.ค. ๖๕ จัดทำโดย caterer.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์โฆษณารับสมัครงานสำหรับภาคธุรกิจ hospitality โดยตรง พบว่า จำนวนแรงงานชาวต่างชาติจาก EU และ non-EU ที่ทำงานในภาคธุรกิจ hospitality ของ สอ. ลดลงจากปี ๖๒ (ช่วงก่อน Brexit) รวมประมาณ ๑๙๗,๐๐๐ ตำแหน่ง ในส่วนนี้คิดเป็นแรงงานชาว EU ๑๒๑,๐๐๐ ตำแหน่ง (หรือลดลงร้อยละ ๔๑) ทำให้ร้อยละ ๔๓ ของบริษัทในกลุ่มสำรวจนี้ต้องลด ชม. การให้บริการเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่ร้อยละ ๘๙ เห็นว่ามาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดและยุ่งยากมากขึ้นหลัง Brexit ทำให้หลายบริษัทต้องการจ้างงานชาวต่างชาติลดลง โดยองค์กร UKHospitality ประเมินว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ทำให้ภาคธุรกิจดังกล่าวสูญเสียรายได้ราว ๒.๑ หมื่นล้านปอนด์ และทำให้การคลังของ สอ. สูญเสียรายได้จากภาษีมูลค่า ๕ พันล้านปอนด์ ในขณะที่ผู้แทนของ รบ. สอ. มองว่าภาคธุรกิจควรลงทุนระยะยาวโดยการจ้างงานบุคลากรใน สอ. มากกว่าการจ้างแรงงานชาวต่างชาติ[5]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
     - เมื่อวันที่ ๑๗ ส.ค. ๖๕ รบ. สอ. โดยนาย Kwasi Kwarteng รมว. ธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของ สอ. ได้ใช้อำนาจตาม พรบ. National Security and Investment Act ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา เข้าระงับกระบวนการเข้าซื้อกิจการ บ. Pulsic Limited (บริษัทออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใน สอ.) โดย บ. Super Orange HK Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน เพื่อจำกัดบทบาทของจีนในธุรกิจและเทคโนโลยีสำคัญด้านความมั่นคงของ สอ. และป้องกันการใช้ธุรกิจดังกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ด้านการทหารและเทคโนโลยีของจีน[6] ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีแรกที่ รบ. สอ. ใช้อำนาจตาม พรบ. ใหม่ในการห้ามธุรกรรมของภาคเอกชนเพื่อลดการพึ่งพาจีนในระบบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสำคัญ นอกจากนี้ยังมีกรณีการทบทวนการเข้าซื้อกิจการของ Newport Wafer Fab โดย บ. Nexperia ซึ่งปรากฏภายหลังว่ามีกลุ่มทุนจีนสนับสนุนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื่องจาก Newport Wafer Fab เป็นโรงงานผลิตไมโครชิพที่ใหญ่ที่สุดใน สอ.
    อนึ่ง พัฒนาการดังกล่าวสะท้อนว่า สอ. ยังคงดำเนินนโยบายรัดกุมในการดำเนินธุรกิจกับจีนภายใน สอ. ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยโฆษกของ สอท. จีน/ สอ. แถลงตอบโต้ว่า การเข้าแทรกแซงดังกล่าวไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติต่อบริษัทของจีน ถือเป็นการทำลายโอกาสการลงทุนและผลประโยชน์ในระยะยาวของ สอ. เอง ทั้งนี้ บ. Pulsic มี สนง. ในเมือง Bristol และเมือง Newcastle ของ สอ. ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น และในเมือง San Jose  มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ[7]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ รายงานภาวะเงินเฟ้อของ ONS[8] ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index- CPI) ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ ๔๐ ปี ที่ร้อยละ ๑๐.๑ ในเดือน ก.ค. จากร้อยละ ๙.๔ ในเดือน มิ.. ที่ผ่านมา ในขณะที่รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานล่าสุดอีกฉบับของ ONS[9] พบว่า อัตราค่าแรงโดยเฉลี่ยของ สอ. ปรับขึ้นเพียงร้อยละ ๔.๗ ในช่วงเดือน เม..- มิ.. ๖๕ ซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าค่าแรงในระดับที่สูงที่สุดใน ปวศ. สอ. นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราค่าแรงของภาคเอกชนมีการปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๕.๙ ในขณะที่อัตราค่าแรงของภาครัฐปรับขึ้นเพียงร้อยละ ๑.๘ ทั้งนี้ ด้วยปัญหาค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) ให้ข้อมูลว่า ศก. สอ. จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัวในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีนี้เป็นต้นไป จึงเพิ่มความกังวลให้แก่ภาคครัวเรือนของ สอ. มากยิ่งขึ้น ล่าสุดข้อมูลดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) จัดทำโดย บ. Gfk เมื่อวันที่ ๑-๑๒ ส.ค. ๖๕[10] พบว่า ความมั่นใจของผู้บริโภคใน สอ. ลดลงมาอยู่ที่ -๔๔ จาก -๔๑ ในเดือนที่แล้ว ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ ๕๐ ปี ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าแนวโน้มลดการใช้จ่ายจะยิ่งซ้ำเติม ศก. สอ. โดยเฉพาะภาคธุรกิจค้าปลีกให้ชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ๓.๒ ปัญหาเงินเฟ้อได้ส่งผลต่อเนื่องให้ภาคเอกชนของ สอ. ขยับตัวเข้าสู่ภาวะซบเซาในเดือน ส.ค. รวมทั้งการฟื้นตัวของ ศก. สอ. หลังพ้นวิกฤตโควิด-๑๙ ได้ชะลอตัวแล้ว โดยข้อมูลดัชนี PMI (Purchasing Managers’ Index) ของ สอ. จัดทำโดยบ. S&P Global ร่วมกับ CIPS ในช่วงวันที่ ๑๒-๑๙ ส.ค.[11] ระบุว่าผลผลิตทาง ศก. โดยรวมของภาคเอกชน สอ. ในเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ ๕๐.๙ ลดลงจาก ๕๒.๑ ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ ๑๘ เดือน (นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ๖๔) ในขณะที่ดัชนี PMI ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม (Flash UK Manufacturing PMI) ปรับตัวลดลงจาก ๕๑.๑ ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ ๔๖ ในเดือน ส.ค. ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ๖๓ (ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์)
    ๓.๓ รายงานการประเมิน ศก. สอ. ล่าสุดของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าปัจจัยจากการปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือนอีกร้อยละ ๘๐ ตั้งแต่เดือน ต.ค. ศกนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของ สอ. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๒๒.๔ ได้ในช่วงต้นปีหน้า ในขณะที่สถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น Citigroup, Bank of America และ EY คาดการณ์ไว้ที่ระดับร้อยละ ๑๔ – ๑๘.๖ โดย สอ. ถือเป็น ปท. ที่ประสบปัญหาค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูงที่สุดใน ปท. กลุ่ม G7 ทั้งนี้ Goldman Sachs ระบุว่ากรณีที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ ๒๒ จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ ๐.๔ ในปีนี้ และลดลงอีกร้อยละ ๒.๙ ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ ศก. สอ. หดตัวในอัตราร้อยละ ๓.๔ ภายในสิ้นปีหน้า[12]
    ๓.๔ BoE ประเมินว่าสภาวะ ศก. สอ. มีโอกาสถดถอยยืดเยื้อเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้ ศก. สอ. หดตัวลงต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ภายในไตรมาสที่สามของปี ๒๕๖๘ และเป็นสัญญาณเตือนให้ BoE อาจต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับร้อยละ ๔ ในปีหน้า โดยอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๐.๕๐ เป็นร้อยละ ๒.๒๕ ใน กปช. คกก. นโยบายการเงินแห่งชาติครั้งถัดไปในวันที่ ๑๕ ก.ย. ศกนี้[13]
    ๓.๕ จากสภาวะ ศก. ถดถอยของ สอ. และโอกาสที่จะยืดเยื้อยาวนานออกไปจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอก ปท. โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงาน ผู้ประกอบการไทยทั้งใน สอ. และผู้ส่งออกจาก ปทท. จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต หาตลาดรองรับ และเตรียมมาตรการรับมือกับราคาไฟฟ้าและแก๊สที่จะพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ ๘๐ ตั้งแต่เดือน ตค. ศกนี้ เป็นต้นไป ทั้งนี้ สอท. จะติดตามนโยบายของ นรม. และ รบ. ชุดใหม่ของ สอ. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ศก. และปัญหาพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ รบ. สอ. จะให้สำคัญดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อประมวลรายงานกระทรวงฯ ต่อไป

 

[1] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-suffolk-62608119
[2] https://www.theguardian.com/business/2022/aug/25/co2-producers-meet-food-needs-halt-production-energy-prices
[3] https://twitter.com/ofgem/status/1563043721884598272
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-62688692
[5] https://www.ft.com/content/027ea2e9-d6c3-4a18-a735-87f92ace95a4
[6] https://www.gov.uk/government/publications/acquisition-of-pulsic-ltd-by-super-orange-hk-holding-ltd-notice-of-final-order
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-62588656
[8]https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/july2022
[9]https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/averageweeklyearningsingreatbritain/august2022
[10]https://www.gfk.com/en-gb/press/uk-consumer-confidence-hits-new-record-low-in-august-2022
[11]https://www.pmi.spglobal.com/Public/Home/PressRelease/c0c7593eb1c5426b83e6760e942d873d
[12] https://www.thetimes.co.uk/article/uk-inflation-could-pass-22-on-high-energy-prices-goldman-sachs-warns-rsbfc07w7
[13] https://www.theguardian.com/business/2022/aug/23/bank-of-england-may-be-forced-to-raise-interest-rates-to-4-per-cent-2023-inflation