สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 เม.ย. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 เม.ย. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,712 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ โลจิสติกส์ บริษัทใน สอ. ที่ให้บริการเช่าพื้นที่คลังสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ (fulfilment service) เช่น บ. Clipper Logistics / บ. Eddie Stobart / บ. Wincanton และ บ. Xpediator ให้ข้อมูลว่าธุรกิจดังกล่าวขยายตัวหลายเท่าตัวจากปัจจัย Brexit และการจับจ่ายทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิดทำให้ปริมาณความต้องการพื้นที่เก็บสินค้าและการ outsource บริการด้านพิธีการทางศุลกากร (customs clearance) เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดย บ. Clipper Logistics ซึ่งมีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งใน สอ. และ EU มีมูลค่าหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น ๔ เท่าตัวโดยส่วนหนึ่งเกิดจากการรับบริการขนส่งชุด PPE ให้แก่ NHS ด้วย ในขณะที่ บ. Wincanton ซึ่งรับบริการด้านพิธีการศุลกากรสินค้าคาดว่า ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี ๖๔ จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๐ จากแนวโน้มของตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ใน สอ. ถือว่าได้รับผลดีจาก Brexit อย่างไม่คาดคิดและมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องภายหลังจากที่ร้านค้าปลีกใน สอ. เริ่มเปิดให้บริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๒ เม.ย. ๖๔ เป็นต้นมา ทำให้เกิดความต้องการการบริการขนส่งที่ผสมผสานกันระหว่างทั้งช่องทางออนไลน์และในร้านค้ามากขึ้น รวมถึงการจัดการสินค้าที่รับคืนต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อภาคธุรกิจดังกล่าว
    ๑.๒ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บ. Dixons Carphone ประกาศแผนปิดสาขาในสนามบินถาวรจำนวน ๓๕ แห่ง ใน สอ. ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งที่ผ่านมาทำกำไรให้กับบริษัทประมาณปีละ ๒๐ ล้านปอนด์ โดยมีปัจจัยจากการยกเลิก tax-free shopping ใน สอ. หลังออกจาก EU ของ รบ. สอ. ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๖๔ เป็นต้นมา ทำให้ สอ. เป็น ปท. เดียวในยุโรปที่ไม่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ นทท. ต่างชาติ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ให้ข้อมูลว่ายอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ อุปกรณ์เตรียมอาหาร และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพและความงามของ บ. Currys PC World (อยู่ภายใต้กิจการของ บ. Dixons Carphone) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. ๖๔ ทั้งใน สอ. ไอร์แลนด์ และ ปท. แถบสแกนดิเนเวีย ทำให้บริษัทฯ สามารถชำระเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) คืนแก่ รบ. สอ. จำนวน ๗๓ ล้านปอนด์ได้ทั้งหมด และคาดว่าจะสามารถทำกำไรในปีนี้ได้ประมาณ ๑๕๑ ล้านปอนด์

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ การค้าปลีก สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[1] รายงานว่า ยอดขายสินค้าโดยรวมในเดือน มี.ค. ๖๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๔ (เทียบกับเดือน ก.พ.) โดยยอดขายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ ๑๗.๕ (แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดในเดือน ก.พ. ๖๓ ถึงร้อยละ ๔๑.๕) ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓.๔ ยอดขายอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๕ โดยมีปัจจัยจากเทศกาล Easter และยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑.๑ เป็นต้น ทั้งนี้ การจับจ่ายออนไลน์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ ๓๔.๗ จากร้อยละ ๓๖.๒ ในเดือน ก.พ. (แต่ยังสูงกว่ายอดขายออนไลน์ในเดือน มี.ค. ๖๓ ที่อยู่ในระดับร้อยละ ๒๓.๑) ในขณะที่องค์กรการค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium - BRC) พบว่า จำนวน ปชช. ที่ออกมาจับจ่ายในย่านร้านค้าปลีก (high street) ในอังกฤษในช่วงสัปดาห์แรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ (๑๒ - ๑๘ เม.ย. ๖๔) มีเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึงร้อยละ ๒๐๐ นอกจากนี้ บ. Primark ให้ข้อมูลว่า มาตรการล็อกดาวน์รอบที่สาม (๕ ม.ค. - ๑๑ เม.ย.) ทำให้บริษัทฯ สูญเสียรายได้ประมาณ ๑.๑ พันล้านปอนด์เนื่องจากบริษัทไม่มีการขายสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ พบว่าในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่สาขาต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์เพิ่มสูงขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด โดยร้านสาขาประมาณร้อยละ ๕๐ สามารถสร้างสถิติยอดขายสูงสุดใหม่ได้ในสัปดาห์แรก
    ๒.๒ อาหาร บ. Gousto ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการขายและจัดส่งชุดอาหารพร้อมปรุง (meal kit) ใน สอ. รายงานว่ายอดขายของบริษัทฯ ในปีที่แล้ว (๑ ม.ค. - ๓๑ ธ.ค. ๖๓) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ ๑๒๙ คิดเป็นกำไรมูลค่า ๑๘.๒ ล้านปอนด์ (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ได้รับกำไร เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่บริษัทฯ ขาดทุนมูลค่า ๙.๑ ล้านปอนด์) และประกาศแผนจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง โดยมีปัจจัยหนุนจากวิกฤตโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อชุดอาหารพร้อมปรุงมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าแนวโน้มของธุรกิจชุดอาหารพร้อมปรุงจะขยายตัวต่อไปหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากมีราคาถูกว่าการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารและสะดวกกว่าการเดินทางไปจับจ่ายอาหารที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ภายในสิ้นปี ๖๕ เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคใน สอ. ที่กำลังปรับตัวไปทาง health convenience and sustainability มากขึ้น ทั้งนี้ Gousto ยังได้วางแผนเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มในเมือง Warrington ในเขต Cheshire และเมือง Thurrock ในเขต Essex โดยคาดว่าจะจ้างงานเพิ่มอีกเท่าตัวภายในปี ๖๕ ด้วย
    ๒.๓ รถยนต์ ข้อมูลของ Schmidt Automotive Research[2] ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ระบบไฟฟ้าใน สอ. ในไตรมาสแรกของปี ๖๔ มีจำนวน ๓๑,๘๐๐ คัน เทียบกับยอดขายในฝรั่งเศสจำนวน ๓๐,๕๐๐ คัน ทำให้ สอ. กลายเป็นตลาดรถยนต์ระบบไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป (รองจากเยอรมนีที่มียอดขายจำนวน ๖๔,๗๐๐ คัน) ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ระบบไฟฟ้าใน สอ. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี ๖๔ ทำให้ยอดขายแบ็ตเตอร์รี่รถยนต์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวด้วย (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) ซึ่งคาดว่ามีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการประกาศนโยบายและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมของ รบ. สอ. ซึ่งท้าทายกว่ามาตรการของ EU อย่างไรก็ดี ข้อมูลการสำรวจของ YouGov (สนับสนุนโดย บ. CTEK ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ระบบไฟฟ้า) พบว่า ร้อยละ ๗๘ ของผู้ใช้รถชาวบริติช เห็นว่า สอ. ยังมีจุดชาร์จรถยนต์ระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ปัจจัยจากราคาของรถยนต์ระบบไฟฟ้าที่สูงเป็นสาเหตุหลักทำให้ ปชช. ส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ แต่ในระยะยาวคาดว่าปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยปรับราคาให้ลดลงได้ต่อไป

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    
๓.๑ เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมโดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ ๗๘ (เทียบกับปริมาณเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐) ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๕ และครอบคลุมการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการบินและการเดินเรือ รปท. เป็นครั้งแรกด้วย[3] โดยเป็นไปตามคำแนะนำจากแผนการจัดการคาร์บอนแห่งชาติฉบับที่ ๖ (Sixth Carbon Budget– CB6)[4] ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๓๓ - ๒๐๓๗ ที่จัดทำโดย Climate Change Committee (CCC)  ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นภายใต้ กม. Climate Change Act 2008 มีหน้าที่วิเคราะห์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเป้าหมายและแผนดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกแก่ รบ. สอ. เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายใน   ปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ทั้งนี้ การประกาศมาตรการดังกล่าวถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นและบทบาทผู้นำของ สอ. ในการดำเนินมาตรการด้าน สวล. ควบคู่ไปกับการมีความโดดเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ ๕๐ ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดใน สอ. โดยในวาระที่ สอ. จะเป็นประธาน กปช. COP26 สอ. เตรียมนำเสนอความก้าวหน้าดังกล่าวและสนับสนุนให้ ปท. ทั่วโลกร่วมกันตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ด้วย นอกจากนี้ สอ. ยังถือเป็น ปท. แรกใน ปท. กลุ่ม G7 ที่ทำ คตล. กับผู้ประกอบการพลังงานเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานนอกชายฝั่งทะเลไปสู่พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อ สวล. (North Sea Transition Deal[5]) โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมนี้ให้ได้ร้อยละ ๕๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐
    ๓.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย. ๖๔ นาง Liz Truss รมว. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT)  ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับนาย Dan Tehan รมว. การค้าของออสเตรเลีย[6] ว่า สอ. และออสเตรเลียได้บรรลุข้อตกลงรายละเอียดสำคัญส่วนใหญ่ใน คตล. การค้าระหว่าง สอ. - ออสเตรเลียแล้ว โดยจะเร่งดำเนินการเจรจาหารือในส่วนที่เหลือต่อไปและมีกำหนดลงนาม คตล. ทางการค้าภายในเดือน มิ.ย. ศกนี้ ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวจะทำให้ คตล. การค้าระหว่าง สอ. - ออสเตรเลียเป็น คตล. การค้าเสรีฉบับแรกของทั้งสองฝ่ายภายใต้เงื่อนไขใหม่ (ไม่ใช่ คตล. เพื่อคงสภาพการค้าระหว่างออสเตรเลียกับ EU) ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ ศก. สอ. ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะยาวคิดเป็นมูลค่า ๕๐๐ ล้านปอนด์ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ เม.ย. ๖๔ นาง Truss กับนาย Muhammad Lutfi รมว. การค้าอินโดนิเซียได้ลงนามใน MOU ว่าด้วยการจัดตั้ง Joint Economic and Trade Committee (JETCO) สอ. - อินโดนิเซีย (เช่นเดียวกับที่จัดตั้งกับ ปทท.) เพื่อเป็นกลไกทางการในการส่งเสริมการค้าเสรีและความร่วมมือทาง ศก. ระหว่างทั้งสองฝ่าย โดย สอ. คาดการณ์ว่าอินโดนิเซียจะก้าวขึ้นเป็น ศก. ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ๕ ลำดับแรกภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐[7]

๔. ทิศทางเศรษฐกิจ สอ.
    - ข้อมูลของ ONS[8] รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer prices index - CPI) ที่ปรับปรุงในเดือน มี.ค. ๖๔ ปรับตัวขึ้นเป็นร้อยละ ๐.๗ (จากร้อยละ ๐.๔ ในเดือน ก.พ.) สะท้อนว่าค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อใน สอ. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากราคาน้ำมันรถและเสื้อผ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่กระตุ้นให้ ปชช. ออกจากบ้านและจับจ่ายสินค้าโดยเฉพาะเสื้อผ้ามากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Apple mobility data[9] (ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากการใช้งานบนแอพพลิเคชั่น Apple Maps) ที่พบว่า ปชช. ใน สอ. เดินทางออกจากบ้านด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการเดินเท้าในช่วง ๑ เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้ว นอกจากนี้ รายงานของ ONS อีกฉบับ[10] ระบุว่า อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของ สอ. ในช่วงเดือน ธ.ค. ๖๓ - ก.พ. ๖๔) อยู่ที่ร้อยละ ๔.๙  (ประมาณ ๑.๖๗ ล้านคน) ลดลงจากร้อยละ ๕ (หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน) ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ ๐.๑ ทั้งนี้ แนวโน้มทั้งสองดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของ ศก. สอ. โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่ามาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จะช่วยให้อัตราการจ้างงานของ สอ. ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง ๒ - ๓ เดือนข้างหน้านี้ ในขณะที่ข้อมูลจาก IHS Markit ล่าสุด[11] ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้สภาวะผลผลิตของภาคเอกชนโดยรวม (Flash UK Composite Output Index) ซึ่งรวมทั้งภาคการผลิตและการบริการ ในเดือน เม.ย. ๖๔ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ ๖๐.๐ (จากเดิมอยู่ที่ ๕๖.๔ ในเดือน มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวทาง ศก. ในส่วนของภาคเอกชนที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ๒๕๕๖

. พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อไทย
    - บ. Navitas ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) ใน สอ. ได้จัดทำสรุปคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ผลิตอาหารในยุคหลังวิกฤต New Normal ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของตลาด โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
      ๑) ด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร – สอ. ได้แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค. ๖๔ [12]  โดยผู้ประกอบการที่ผลิตและขายอาหารที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พร้อมขาย (prepacked for direct sale - PPDS) เช่น แซนวิช และสลัด ต้องติดฉลากอาหารโดยระบุชื่ออาหาร ส่วนผสม พร้อมกับสาร/ส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ให้ชัดเจน นอกจากนี้ ก. สธ. ของ สอ. ยังประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลในฉลากอาหารโดยให้มีการระบุปริมาณแคลอรี่และเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารแบบซื้อกลับบ้านในอนาคตอีกด้วย
      ๒) การให้ข้อมูลผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์/แอพลิเคชั่น – ร้านอาหารที่ให้บริการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์จำเป็นต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ให้ชัดเจน และอาจให้ผู้บริโภคสามารถเลือก/ไม่เลือกส่วนผสมบางรายการได้เพื่อเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจ
      ๓) การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการบริหารจัดการและลดผลกระทบต่อ สวล. – ปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้าน เช่น การวางระบบจัดการครัวแบบดิจิทัล การใช้ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเพื่อลดขยะ การทำรายการอาหารออนไลน์ การใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลแทนการพิมพ์เอกสาร และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อ สวล. ในการจัดส่งอาหาร เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาการของตลาดที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรศึกษามาตรการของทางรัฐและติดตามแนวโน้มความสนใจด้าน สวล. ของผู้บริโภคใน สอ. เพื่อเป็นประโยชน์ทางธุรกิจต่อไป

 

[1] https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/march2021
[2] https://covid19.apple.com/mobility
[3] https://www.ons.gov.uk/employmentandlabourmarket/peopleinwork/employmentandemployeetypes/bulletins/uklabourmarket/april2021
[4] https://www.markiteconomics.com/Public/Home/PressRelease/f32d3c87b96f4c8ca7577a72322804cf
[5] https://www.food.gov.uk/business-guidance/introduction-to-allergen-labelling-changes-ppds
[6] http://www.thaitradelondon.com/ข้อควรคำนึงในการดำเนิน/
[7] https://www.schmidtmatthias.de/evmarketupdate/categories/electric-car-market
[8] https://www.gov.uk/government/news/uk-enshrines-new-target-in-law-to-slash-emissions-by-78-by-2035
[9] https://www.theccc.org.uk/publication/sixth-carbon-budget/
[10] https://www.gov.uk/government/publications/north-sea-transition-deal
[11] https://www.gov.uk/government/news/joint-statement-on-uk-australia-trade-talks
[12] https://www.gov.uk/government/news/uk-and-indonesia-announce-new-joint-economic-and-trade-committee
[13] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/march2021