สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 28 ก.พ. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 28 ก.พ. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 7,881 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ การค้าปลีก สนง. สถิติแห่งชาติ สอ. (Office for National Statistics – ONS) รายงานว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ในเดือน ม.ค. ๖๕ ฟื้นตัวดีขึ้นร้อยละ ๑.๙ เทียบกับการหดตัวร้อยละ ๔ ในเดือน ธ.ค. ๖๔[1] โดยมีปัจจัยจากการที่ ปชช. มั่นใจในการใช้ชีวิตตามปกติและใช้จ่ายในย่านชอปปิ้งมากขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดขายของห้างสรรพสินค้า ร้านตกแต่งสวน (garden centre) และร้านขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวขึ้นมากถึงร้อยละ ๓.๔ โดยเฉพาะสินค้าเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าปรับตัวลดลงร้อยละ ๕ และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดร้อยละ ๑๒.๖ ในส่วนยอดขายอาหารปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดเป็นครั้งแรกในรอบ
๒ ปี โดยมีปัจจัยการที่ ปชช. รับประทานอาหารนอกบ้าน สั่งอาหาร takeaway และสั่งชุดประกอบอาหารสำเร็จ (meal-subscription kit) มากขึ้น นอกจากนี้ ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในย่านชอปปิ้งที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบให้ยอดขายออนไลน์ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่ มี.ค. ๖๓ ด้วย ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกของ สอ. ยังอยู่ในระดับที่ดีแม้ผลการสำรวจผู้บริโภคล่าสุดจะสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความท้าทายในอนาคตคือการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าแทบทุกรายการในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์โดยตรงและกำลังซื้อของ ปชช. ที่ลดน้อยลงเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น[2]
    ๑.๒ น้ำมันเชื้อเพลิง บ. BP ซึ่งถือเป็นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการลงทุนในรัสเซีย ประกาศถอนตัวออกจากการถือหุ้นร้อยละ ๑๙.๗๕ (มูลค่า ๑.๐๔ หมื่นล้านปอนด์) ใน บ. Rosneft บริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงของ รบ. รัสเซียเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียในปัจจุบัน นอกจากนี้ นาย Bernard Looney ปธ. ปัจจุบันของ บ. BP และมีตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของ Rosneft รวมทั้งนาย Bob Dudley ผอ. Rosneft (ซึ่ง BP เสนอให้ดำรงตำแหน่ง) ได้ลาออกจากตำแหน่งใน Rosneft ด้วยโดยมีผลทันที ทั้งนี้ การประกาศท่าทีดังกล่าวมีปัจจัยจากแรงกดดันของ รบ. สอ. ทั้งนี้ การถอนหุ้นส่วนดังกล่าวทำให้ บ. BP อาจต้องเสียเงินค่าปรับเกือบ ๑.๙ หมื่นล้านปอนด์ให้แก่ บ. Rosneft และสูญเสียโอกาสได้ผลกำไรประมาณ ๒ พันล้านปอนด์ (หรือร้อยละ ๒๐ ของยอดกำไรปัจจุบัน) ในขณะเดียวกัน บ. Shell ได้ประกาศถอนตัวออกจากการร่วมธุรกิจกับ บ. Gazprom ของรัสเซีย รวมทั้งจะยุติการมีส่วนร่วมในโครงการวางท่อก๊าซ Nord Stream 2 ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียด้วย โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบกับธุรกิจของ Shell มูลค่าประมาณ ๓ พันล้านปอนด์[3] อนึ่ง กรณีความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน สอ. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น ๗๔ ปอนด์ต่อบาร์เรล ถือเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบกว่า ๗ ปี (ณ วันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๕)[4]                              
     ๑.๓ การลงทุน ภาคการธนาคารและบริการการเงินของ สอ. ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทาง ศก. ต่อรัสเซียอย่างมาก เช่น HSBC, NatWest, Barclays, Lloyds รวมถึง บ. Prudential และ บ. Legal & General ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทดังกล่าวปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ ๓ นอกจากนี้ หุ้นของบริษัทอื่นที่มี คสพ. ใกล้ชิดกับ รบ. รัสเซียได้ปรับตัวลดลงอย่างมากด้วยเช่นกัน เช่น หุ้นของ บ. Evraz (บริษัทผลิตเหล็กและถ่านหินสัญชาติรัสเซียซึ่งมีนาย Roman Abramovich เจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีเป็นหุ้นส่วนบริษัท) ปรับตัวลดลงร้อยละ ๒๕ หุ้นของ บ. Polymetal บริษัทผลิตทองอันดับที่สองของรัสเซีย ปรับตัวลงร้อยละ ๕๕ และหุ้นของ บ. BP ลดลงร้อยละ ๗ เป็นต้น ในขณะที่
นักลงทุนทยอยถอนการลงทุนจากบริษัทด้านการเงินการธนาคารไปยังธุรกิจการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้น ทำให้หุ้นของ บ. BAE Systems ซึ่งผลิตอาวุธให้แก่กองทัพของ สอ. และสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อยละ ๑๔ ทั้งนี้ ผลของมาตรการคว่ำบาตรทาง ศก. ต่อรัสเซียส่งผลให้ตลาดหุ้น สอ. ในภาพรวมปรับตัวลดลงโดยดัชนี FTSE 100 ลดลงร้อยละ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๕[5]
    ๑.๔ การเดินทาง รปท. บ. International Airlines Group (IAG) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสายการบิน British Airways (BA) ให้ข้อมูลว่า บริษัทสามารถลดผลการขาดทุนจากที่เคยขาดทุนมูลค่า ๖.๑๙ พันล้านปอนด์ในปี ๖๔ เหลือ ๒.๙ ล้านปอนด์ในปี ๖๕ โดยเป็นผลจากการลดต้นทุนด้านการดำเนินการและการเลิกจ้าง พนง. จำนวนหนึ่ง และคาดว่าบริษัทจะสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้จากยอดการซื้อบัตรโดยสารเพื่อเดินทางในช่วงเทศกาลอีสเตอร์และในช่วงวันหยุดภาคฤดูร้อน บริษัทคาดการณ์ว่าอาจใช้เวลาอีก ๑ ปี (ในปี ๖๖) กว่าที่จำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัสเซียได้ออกมาตรการห้ามสายการบิน BA ของ สอ. ใช้น่านฟ้าของรัสเซียซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้การห้ามสายการบิน Aeroflot ของรัสเซียเข้าน่านฟ้า สอ. ในกรณีความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อย่างไรก็ดี สายการบิน BA ได้แสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสายการบินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจาก BA ให้บริการเส้นทาง สอ. - รัสเซียเพียง ๓ เที่ยวบินต่อสัปดาห์เท่านั้น อีกทั้งบริษัทมุ่งเน้นขยายการให้บริการเส้นทางจาก สอ. ไปยังทวีปอเมริกามากกว่าเส้นทางจาก สอ. ไปยังทวีปเอเชียซึ่งยังมีข้อจำกัดการเดินทางตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นของ AIG ปรับขึ้นร้อยละ ๓.๕ เมื่อวันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๕ จากวันก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ ๖[6]
        อนึ่ง ล่าสุด รบ. สอ. ได้ประกาศมาตรการจำกัดเส้นทางคมนาคมขนส่งต่อรัสเซียเพิ่มเติมแล้วโดย ก. คมนาคม สอ. ได้ออกคำสั่งห้ามเรือขนส่งหรือเรือโดยสารของรัสเซีย ไม่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซียส่วนใดส่วนหนึ่งหรือบางส่วนก็ตาม เข้าเทียบท่าใน สอ. แล้ว[7]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ. ๖๕ นาง Priti Patel รมว. มท. สอ. ประกาศยกเลิกวีซ่าประเภท Tier 1 สำหรับนักลงทุนต่างชาติ (Tier 1 Investor visa route) มีผลบังคับใช้ทันที ทั้งนี้ วีซ่าดังกล่าวเป็นวีซ่าที่ให้สิทธินักลงทุนต่างชาติที่มีเงินลงทุนใน สอ. ตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถพำนักอาศัยและทำงานใน สอ. ได้อย่างสะดวก ซึ่งจากการตรวจสอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ได้สถานะวีซ่าดังกล่าวบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชัน การฟอกเงิน และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของ สอ.[8] ทำให้ รบ. สอ. ประสงค์ที่จะปฏิรูปมาตรการทางวีซ่าดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเปลี่ยนเป็นวีซ่าประเภทที่เฉพาะทางมากขึ้นให้สอดคล้องกับระบบ points-based immigration system ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่จะช่วยคัดกรองนักลงทุนที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ต่อ ศก. สอ. อย่างแท้จริง เช่น Innovator visa และ Start-up visa นอกจากนี้ พัฒนาการดังกล่าวถือเป็นมาตรการตัดช่องทางการเงินของรัสเซียใน สอ. เพื่อคว่ำบาตรทาง ศก. ต่อรัสเซียด้วย (ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ที่เริ่มใช้เป็นต้นมา สอ. ออกวีซ่าดังกล่าวให้แก่นักลงทุนรัสเซียมากถึง ๒,๕๘๑ ราย[9])  
    ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๘ ก.พ. ๖๕ ก. การค้า รปท. สอ. (Department for International Trade – DIT) รายงานความคืบหน้าในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ของ สอ. โดยล่าสุด ญป. ซึ่งเป็น ปธ. คณะทำงานกลุ่ม CPTPP ได้ออกแถลงการณ์ว่าขณะนี้ สอ. ได้ผ่านกระบวนการพิจารณามาถึงขั้นที่สองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยคณะผู้แทนของ ปท. กลุ่มสมาชิกจะทำการเจรจาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดด้านการเปิดตลาดระหว่าง ปท. สมาชิก (market access) ทั้งนี้ DIT คาดว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP จะทำให้ สอ. สามารถส่งออกสินค้าร้อยละ ๙๙.๙ ไปยัง ปท. สมาชิกกลุ่ม CPTPP ได้โดยปลอดภาษีนำเข้า อีกทั้งยังขยายโอกาสด้านการลงทุนโดยเฉพาะการบริการด้านดิจิทัลใน ปท. สมาชิกกลุ่ม CPTPP ด้วย และคาดว่าจะกระตุ้นผลผลิตให้แก่ท้องถิ่นเวลส์มูลค่า ๕๓ ล้านปอนด์ ไอร์แลนด์เหนือมูลค่า ๔๕ ล้านปอนด์ และสกอตแลนด์มูลค่า ๑๖๓ ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมนโยบายการกระจายความเจริญของ รบ. สอ. (Levelling Up) 
          อนึ่ง นาง Anne-Marie Trevelyan รมว. ก. การค้า รปท. ได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย ญป. และสิงคโปร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นภาคีของ สอ. ในขั้นตอนสุดท้าย และกระชับ คสพ. ทางการค้ากับ ปท. ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก[10]
    ๒.๓ เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๕ นาง Anne-Marie Trevelyan รมว. ก. การค้า รปท. สอ. และนาย Damien O’Connor รมว. ก. การค้าและการส่งเสริมการส่งออกของนิวซีแลนด์ (นซ.) ได้ร่วมลงนาม คตล. การค้าเสรี สอ. - นซ. ที่กรุงลอนดอน (คณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายได้ทำการตกลงร่วมกันในหลักการก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. ๖๔) โดย คตล. ดังกล่าวเป็น คตล. การค้าเสรีฉบับแรกของทั้งสองฝ่ายภายใต้เงื่อนไขใหม่โดยจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าของ สอ. ไปยัง นซ. มากขึ้น (มาตรการปลอดภาษีขาเข้าครอบคลุมสินค้าส่งออก สอ. ทั้งหมด) และช่วยปรับลดขั้นตอนด้านศุลกากรสำหรับธุรกิจ SMEs ของ สอ. ที่ส่งออกสินค้ามายัง นซ. จำนวนกว่า ๕,๙๐๐ แห่ง รวมถึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับกฎระเบียบ rules of origin ให้กับสินค้าส่งออกของ สอ. มากกว่าสินค้าของ ปท. คู่แข่งในตลาด นซ. ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดของ สอ. ใน นซ. ได้ร้อยละ ๓๐ ภายในปี ค.ศ ๒๐๓๐ ทั้งนี้ คสพ. ทางการค้าระหว่าง สอ. และ นซ. ในปี ๖๓ คิดเป็นมูลค่า ๒.๓ พันล้านปอนด์ และ คตล. ดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่าง สอ. กับ นซ. ได้อีกร้อยละ ๖๐ หรือเพิ่มมูลค่าทาง ศก. ได้ประมาณ ๘๐๐ ล้านปอนด์ นอกจากนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนให้ สอ. เข้าเป็นสมาชิก CPTPP ด้วย[11]

๓. ข้อสนเทศเพิ่มเติม
    ๓.๑ อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางการฟื้นตัวของ ศก. สอ. ปีนี้โดยข้อมูลของ ONS ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของ สอ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่อัตราร้อยละ ๕.๕ ในเดือน ม.ค. ๖๕ จากร้อยละ ๕.๔ ในเดือน ธ.ค. ๖๔ ถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ ๓๐ ปี โดยอัตราเงินเฟ้อหลัก (ไม่นับรวมสินค้าที่มีราคาผันผวนซึ่งได้แก่ พลังงานเชื้อเพลิง อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๔ ในเดือน ม.ค. ๖๕ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๔.๒ ในเดือน ธ.ค. ๖๔ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้จะทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของ ปชช. ลดลงต่ำที่สุดในรอบ ๖๐ ปี และน่าจะกดดันให้ธนาคารอังกฤษ (Bank of England - BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ ๐.๗๕ ในเดือน มี.ค. และร้อยละ ๑ ในเดือน พ.ค. ศกนี้ (ปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ ๐.๕๐)[12] 
    ๓.๒ ONS ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นในเดือนที่แล้ว ได้แก่ การปรับขึ้นราคาสินค้าประเภทเสื้อผ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๓) เครื่องใช้ครัวเรือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๑) อาหาร (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔) และพลังงานเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓.๒) ในส่วนความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียจะเป็นปัจจัยเสริมในระยะต่อไปที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานขึ้นกว่าเดิมโดยเป็นผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงานที่มีแนวโน้มสูงในระยะยาว ทั้งนี้ ดัชนีราคาขายปลีก (retail price index) ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ ๗.๘ ในเดือน ม.ค. ๖๕ (ถือเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ๒๕๓๔) และสะท้อนแนวโน้มของอุปสงค์ภายใน ปท. ที่จะหดตัวลงต่อไปด้วย



[1] https://www.ons.gov.uk/releases/retailsalesgreatbritainjanuary2022
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-60427985
[3] https://www.theguardian.com/world/2022/feb/28/shell-to-exit-joint-ventures-with-gazprom-and-pull-out-of-nord-stream-2
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-60548382
[5] https://www.theguardian.com/business/2022/feb/28/uk-banks-shares-ftse-100-russia-sanctions-ukraine
[6] https://www.theguardian.com/business/2022/feb/25/ba-owner-iag-reports-loss-as-it-monitors-ukraine-developments
[7] https://twitter.com/grantshapps/status/1498324731635843074
[8] https://www.gov.uk/government/news/tier-1-investor-visa-route-closes-over-security-concerns
[9] https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-60410844
[10] https://www.gov.uk/government/news/trade-secretary-secures-major-trade-bloc-milestone-ahead-of-asia-visit
[11] https://www.gov.uk/government/news/uk-and-new-zealand-sign-comprehensive-trade-deal
[12] https://www.ft.com/content/5f46f163-7371-422d-a5d8-c0d59d517e21