สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ธ.ค. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ธ.ค. 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ธ.ค. 2565

| 983 view

๑. ความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๑.๑ อสังหาริมทรัพย์ ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วใน สอ. ทำให้อุปสงค์การซื้อบ้านพักอาศัยใน สอ. เริ่มลดลงอย่างชัดเจน ข้อมูลจาก ธ. Halifax พบว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ ๖ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของ สอ. อยู่ในขาลง โดยราคาบ้านเฉลี่ยของ สอ. ในช่วง ๑ เดือน (ต.ค - พ.ย. ๖๕) ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ ๑๔ ปี (นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี ๒๕๕๑) ที่ร้อยละ ๒.๓ และถือเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม (ก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๑ ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. และร้อยละ ๐.๔ ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.) นอกจากนี้ ราคาบ้านโดยเฉลี่ยในช่วง ๑ ปี (พ.ย. ๖๔ - พ.ย. ๖๕) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๔.๗ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ๖๓ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าแนวโน้มดังกล่าวเกิดจากตลาดซื้อขายบ้านพักอาศัยเริ่มปรับตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติมากขึ้นตามการสิ้นสุดของวิกฤตโควิด-๑๙ หลังจากที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านพักที่มีพื้นที่มากและอยู่ในเขตนอกตัวเมือง กอปรกับได้รับผลกระทบจากต้นทุนกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะ ศก. ในปัจจุบัน โดยคาดว่าราคาบ้านเฉลี่ยในกรุงลอนดอนและภาคใต้ของอังกฤษมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมากที่สุด ในขณะที่ราคาบ้านในสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนืออาจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด[1]
    ๑.๒ อุตสาหกรรมรถยนต์ บ. Ford ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยานยนต์ของสหรัฐฯ ที่ลงทุนตั้งฐานผลิตใน สอ. ได้ประกาศแผนขยายสายการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ศูนย์การผลิตในเขต Halewood เมืองลิเวอร์พูล มูลค่า ๑๕๐ ล้านปอนด์ แผนดังกล่าวเป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากปีก่อนที่ได้ลงทุนมูลค่า ๒๓๐ ล้านปอนด์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและรถตู้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี ๒๕๗๓ และภายในปี ๒๕๗๘ ตามลำดับทั้งใน สอ. และยุโรป โดยการลงทุนดังกล่าวทำให้ศูนย์ฯ สามารถเพิ่มกำลังผลิตอุปกรณ์ขับเคลื่อนไฟฟ้า (electric drive unit) ได้ถึงประมาณ ๔๒๐,๐๐๐ ชิ้น/ปีในปี ๒๕๖๗ (จากจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ ชิ้นในปัจจุบัน) และภายในปี ๒๕๖๙ จะสามารถป้อนชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปทั้งหมดได้มากกว่าร้อยละ ๖๐ ทั้งนี้ การลงทุนของ บ. Ford ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก รบ. สอ. ตามนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการค้ำประกันเงินกู้จาก UK Export Finance (UKEF) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ รบ. สอ. ที่สนับสนุนการลงทุนใน สอ. เพื่อการส่งออก
    อนึ่ง การลงทุนในด้านยานยนต์ไฟฟ้าของ สอ. กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ บ. Nissan ร่วมกับ บ. Envision ASEC ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประกาศแผนลงทุนมูลค่า ๑ พันล้านปอนด์ปรับศูนย์การผลิตในเมือง Sunderland ให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลักสำหรับทั่วโลก ในขณะที่ บ. Stellantis มีแผนลงทุนมูลค่า ๑๐๐ ล้านปอนด์ในการสร้างฐานผลิตรถตู้ไฟฟ้าที่ศูนย์ฯ ในเมือง Ellesmere Port ด้วย[2]
    ๑.๓ ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มบริษัทH&M ซึ่งเป็นบริษัทของสวีเดนที่เป็นเจ้าของยี่ห้อแฟชั่น H&M, Cos, Monki และ Arket และมีกิจการกว่า ๔,๖๐๐ แห่งทั่วโลก ประกาศแผนเลิกจ้าง พนง. ประจำ สนง. ใหญ่ของแต่ละประเทศทั่วโลกรวมทั้งใน สอ. รวมจำนวน ๑,๕๐๐ ตำแหน่ง เพื่อลดต้นทุนมูลค่า ๑๕๘ ล้านปอนด์/ปี โดยมีปัจจัยหลักจากผลกำไรที่ปรับตัวลดลงร้อยละ ๓๐ ในช่วง ๙ เดือนที่ผ่านมา (ถึงสิ้นเดือน ส.ค.) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดกิจการทั้งหมดในรัสเซีย ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทจำหน่ายสินค้าแฟชั่นหลายรายของ สอ. ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เช่น บ. Joules บ. Missguided และ I Saw it First (จำหน่ายสินค้าแฟชั่นออนไลน์) เป็นต้น[3]
    ๑.๔ อุตสาหกรรมการผลิต เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค. ๖๕ รบ. สอ. โดยนาย Michael Gove รมว. การกระจายความเจริญ (Levelling-up) การเคหะและกิจการชุมชน ได้อนุมัติโครงการขุดเจาะเหมืองถ่านหินมูลค่า ๑๖๕ ล้านปอนด์ของ บ. West Cumbria Mining ในเขต Cumbria ของอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเหมืองถ่านแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติจาก รบ. ในรอบ ๓๐ ปี โดย รบ. สอ. มองว่าเหมืองดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าถ่านหินจาก ตปท. เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กทั้งใน สอ. และยุโรป กระตุ้นความเจริญในระดับท้องถิ่นและเพิ่มการจ้างงานได้จำนวน ๕๐๐ ตำแหน่ง แม้ว่า รบ. สอ. ประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์น้อย แต่ยังมีผู้มีความเห็นคัดค้านจากทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ตลอดจนองค์กรเพื่อ สวล. จำนวนมากโดยมองว่าไม่มีความจำเป็นและขัดแย้งกับนโยบายด้าน สวล. ของ รบ. สอ. ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถูกระงับการพิจารณาไว้ในช่วง นรม. Boris Johnson ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมการผลิตใน สอ.[4]

๒. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
   - เมื่อวันที่ ๗ ธ.ค. ๖๕ นาย Rishi Sunak นรม. สอ. และนาย Joe Biden ปธน. สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนาม คตล. ทวิภาคี ‘UK-US Energy Security and Affordability Partnership’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ส่งเสริมเสถียรภาพด้านพลังงานในตลาดโลก และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานสีเขียวเพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ โดยสหรัฐฯ ตกลงจะส่งออกก๊าซ LNG จำนวน ๙-๑๐ พันล้านลูกบาศก์เมตรมายังสถานีนำส่งก๊าซใน สอ. ภายในปีหน้าเพื่อให้ สอ. จัดส่งก๊าซดังกล่าวไปยังประเทศคู่ค้าในยุโรปต่อไป อีกทั้งจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (The Joint Action Group) เพื่อหารือถึงแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานยั่งยืนในมิติต่าง ๆ เช่น การลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (Energy Smart Appliances) เป็นต้น รวมถึงการขจัดอุปสรรคในการนำเข้าส่งออกสินค้าพลังงานระหว่างกันด้วย[5]

๓. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๓.๑ อัตราเงินเฟ้อของ สอ. ในเดือน พ.ย. เริ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ ๑๐.๗ (จากร้อยละ ๑๑.๑ ในเดือน ต.ค.) ซึ่งมีปัจจัยจากราคาเสื้อผ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อน โดย สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics – ONS) ให้ข้อมูลว่าปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับขึ้นราคาของภาคธุรกิจบริการ (hospitality) ราคาที่พัก และร้านอาหารในอัตราร้อยละ ๑๐.๒ (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๙.๖ ในเดือนที่แล้ว) ในขณะที่ราคาพลังงานทรงตัว ส่งผลให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า สอ. อาจผ่านจุดสูงสุดของวิกฤตเงินเฟ้อที่ร้อยละ ๑๑.๑ ในเดือน ต.ค. แล้วและน่าจะเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มของวิกฤตเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ BoE ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ ธ.ค. ที่ผ่านมาอีกเพียงร้อยละ ๐.๕ เท่านั้น (จากร้อยละ ๓ เป็นร้อยละ ๓.๕) เพื่อพยายามประคับประคองให้อัตราเงินเฟ้อของ สอ. ลดลงต่อเนื่องและราคาสินค้าต่าง ๆ ทรงตัวมากขึ้น[6] อย่างไรก็ดี รบ. สอ. กำลังเผชิญกับข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำและค่าตอบแทน พนง. รัฐในหลายภาคส่วนมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้ในระยะสั้นเนื่องจาก รบ. สอ. มีข้อจำกัดในด้านการคลังและนโยบายการเงินที่เข้มงวดในปัจจุบัน 
     ๓.๒ เทศกาลสำคัญประจำปีมีส่วนช่วยให้การบริโภคภายใน สอ. ปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น โดยข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกของ สอ. (British Retail Consortium – BRC) ที่สำรวจร่วมกับ KPMG พบว่ายอดขายของธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ในเดือน พ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเทศกาลลดราคา Black Friday และสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นทำให้ ปชช. ซื้อสินค้าสำหรับฤดูหนาวมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/เครดิตในเดือน พ.ย. ของ บ. Barclaycard พบว่ายอดใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นประมาณร้อยละ ๔๐ เมื่อเทียบกับในเดือน ต.ค. ที่เพิ่มขึ้นที่ระดับร้อยละ ๓๖[7] อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าเมื่อผ่านพ้นเทศกาลสำคัญไปแล้วปัจจัยจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวจะทำให้ผู้บริโภคของ สอ. ใช้จ่ายลดลงอีกครั้งซึ่งจะส่งผลให้ ศก. สอ. เข้าสู่ภาวะถดถอยที่ชัดเจนมากขึ้นและอาจยาวนานไปจนถึงไตรมาสที่สี่ในปีหน้า 
     อนึ่ง รายงานของ Insolvency Service ล่าสุดสะท้อนภาวะ ศก. ถดถอยที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจ สอ. มากขึ้นโดยพบว่าในเดือน พ.ย. มีบริษัทที่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและปิดกิจการถาวรทั้งหมด ๒,๐๒๙ รายในอังกฤษและเวลส์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-๑๙ ร้อยละ ๓๕ และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๒๑ โดยส่วนใหญ่ (จำนวน ๑,๕๙๕ ราย) เป็นการดำเนินการด้วยความสมัครใจเพื่อชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ (Creditors’ Voluntary Liquidations - CVLs) ตาม กม. ล้มละลาย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ ๕ และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี ๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๕๐[8]



[1] https://www.ft.com/content/872ae7f3-b010-46e8-8dfc-991bfb7fd174
[2] https://www.ft.com/content/9fbd7d3e-fba6-4855-870f-c3feedb24cdb
[3] https://www.theguardian.com/fashion/2022/nov/30/hm-to-cut-1500-jobs-as-retailers-face-slowing-sales-and-rising-costs
[4] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-cumbria-61974313
[5] https://www.gov.uk/government/news/uk-and-us-announce-new-energy-partnership
[6] https://www.theguardian.com/business/2022/dec/14/uk-inflation-falls-food-and-energy-prices
[7] https://www.theguardian.com/business/2022/dec/06/uk-retailers-boosted-by-november-sales-of-winter-coats-and-hot-water-bottles
[8] https://www.thetimes.co.uk/article/company-insolvencies-soar-amid-economic-gloom-8ffttndk9