สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 16 - 30 ก.ย. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,221 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ น้ำมันเชื้อเพลิง บ. BP ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของ สอ. ออกข่าวเตือนว่าอาจต้องปิดสถานีบริการน้ำมันชั่วคราวจำนวน ๑๐๐ แห่งทั่ว สอ. (จากทั้งหมดกว่า ๑,๒๐๐ แห่ง) เนื่องจากปัญหาขาดแคลน พนง. ขับรถบรรทุกน้ำมันทำให้ไม่สามารถจัดส่งน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ บ. ExxonMobil ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ข่าวดังกล่าวทำให้ ปชช. จำนวนมากตื่นตระหนกและเดินทางออกมากักตุนน้ำมันล่วงหน้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณสถานีฯ หลายแห่งทั่ว สอ. ในขณะที่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ก.ย. ๖๔ สมาคมผู้ค้าน้ำมันปลีก (Petrol Retailers Association - PRA) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ค้าน้ำมันอิสระจำนวน ๕,๕๐๐ รายใน สอ. ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ ๕๐ - ๘๕ ของสถานีบริการน้ำมันใน สอ. ต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีน้ำมันในสต็อก รบ. สอ. ได้พยายามคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้นโดยออกประกาศในช่วงเย็นวันเดียวกันให้ยกเว้นการใช้บังคับ กม. ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม (competition law) ชั่วคราวเพื่ออนุญาตให้บริษัทน้ำมันของ สอ. สามารถแบ่งปันข้อมูลด้านโลจิสติกส์และแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน[1] และประกาศเตรียมพร้อมให้กำลังพลของกองทัพ สอ. จำนวน ๒๐๐ นาย ช่วยทำหน้าที่ขับรถบรรทุกน้ำมันเพื่อกระจายน้ำมันไปทั่ว สอ. แล้ว นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านระบบห่วงโซ่อุปทานในระยะกลาง รบ. สอ. ได้ประกาศมาตรการออกวีซาทำงานชั่วคราวระยะสั้นให้แก่ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานตำแหน่ง พนง. ขับรถ HGV จำนวน ๕,๐๐๐ คน[2] ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นผลส่วนหนึ่งมาจาก Brexit ทำให้แรงงานต่างชาติในภาคดังกล่าวเดินทางออกนอก สอ. และอีกส่วนหนึ่งจากวิกฤตโควิด-๑๙ ที่ทำให้การหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักไปและยังปรับตัวไม่ทัน โดยในระยะยาว รบ. สอ. มีนโยบายให้ผู้ประกอบการเพิ่มสวัสดิการให้แก่แรงงานภาคดังกล่าวเพื่อดึงดูดแรงงานในภาคส่วนนี้จากภายในประเทศมากขึ้น
    ๑.๒ อาหาร สมาคมสัตว์ปีกของ สอ. (British Poultry Council) ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยจากการขาดแคลนแรงงานทำให้โรงงาน/ฟาร์มผลิตไก่งวงได้ในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติร้อยละ ๒๐ โดยบริษัทฟาร์มสัตว์ปีกหลายรายประเมินว่า บริษัทอาจไม่สามารถผลิตไก่งวงได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับเทศกาลคริสต์มาสในปีนี้ ทั้งนี้ บ. Traditional Norfolk Poultry หนึ่งในบริษัทฟาร์มสัตว์ปีกของ สอ. เห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีปัจจัยจาก Brexit โดยตรงเนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทต้องจ้างงานชาวยุโรป ตอ. เพิ่มชั่วคราวเพื่อผลิตไก่งวงในปริมาณที่เพียงพอสำหรับเทศกาลคริสต์มาส แต่ปัจจัย Brexit ทำให้ต้นทุนและขั้นตอนด้านเอกสารเกี่ยวกับการขอวีซาทำงานให้แก่แรงงานชาว EU ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รบ. สอ. ได้ออกมาตรการวีซาทำงานชั่วคราวระยะสั้นให้แก่แรงงานต่างชาติในโรงงาน/ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกอีกอย่างน้อย ๕,๕๐๐ คนจนถึงสิ้นปีนี้[3] ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น[4]

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ พลังงานก๊าซ ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีบริษัทจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับครัวเรือนรายย่อยของ สอ. ที่ประกาศล้มละลายและปิดกิจการถาวรจำนวน ๙ ราย ได้แก่ บ. Avro Energy/ บ. Green Supplier/ บ. People's Energy/ บ. Utility Point/ บ. PFP Energy และ บ. MoneyPlus Energy เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกค้าทั้งหมดกว่า ๑.๗ ล้านราย โดยมีปัจจัยจากราคาต้นทุนของก๊าซธรรมชาติทั้งใน สอ. และ EU ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ ๒๕๐ เทียบกับเดือน ม.ค. ๖๔ การปรับขึ้นราคาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เก็บสะสมโดยรวมมีอยู่ในระดับต่ำเนื่องจาก ปชช. ทั้งใน สอ. EU รวมถึงเอเซียมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา กอปรกับ รบ. สอ. มี กม. กำหนดเพดานค่าธรรมเนียมเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทำให้บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้ อย่างไรก็ดี รบ. สอ. ได้ประกาศปรับขึ้นเพดานค่าธรรมเนียมในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๒ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๖๔ เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ยังมีครัวเรือนอีกประมาณ ๑๕ ล้านหลังที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจำนวน ๑๓๙ - ๑๕๓ ปอนด์ต่อปี[5] และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมอีกครั้งในเดือน เม.ย. ๖๕ ทั้งนี้ ราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อ สอ. ค่อนข้างมากเทียบกับ ปท. อื่นเนื่องจากร้อยละ ๘๕ ของครัวเรือนใน สอ. ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับระบบทำความร้อนภายในบ้าน นอกจากนี้ สอ. ยังใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวน ๑ ใน ๓ ของประเทศด้วย ในขณะที่พลังงานลมโดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอ. สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ ๙ เท่านั้น ซึ่งมีปัจจัยจากกำลังลมที่วัดได้อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ กอปรกับกรณีไฟไหม้ที่ศูนย์ National Grid ในเมือง Kent ยังทำให้ สอ. ต้องปิดระบบสายส่งพลังงานไฟฟ้าจากฝรั่งเศสมา สอ. จนถึงกลางเดือน ต.ค. ๖๔ ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน สอ. มีบริษัทให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับครัวเรือนจำนวน ๓๐ แห่ง เทียบกับในปี ๒๕๖๑ ที่มีจำนวนกว่า ๗๐ แห่ง และภายในสิ้นปีนี้อาจมีเหลือเพียง ๑๐ แห่งเท่านั้นจากวิกฤตต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    ๒.๒ ธุรกิจค้าปลีก สนง. สถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS)[6] รายงานว่า ยอดขายของภาคธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของ สอ. ประจำเดือน ส.ค. ๖๔ ปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๙ ถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ ๔ ติดต่อกัน โดยยอดขายสินค้าประเภทอาหารปรับลดลงร้อยละ ๑.๒ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ามีปัจจัยมาจากการออกจากล็อกดาวน์ที่ทำให้ ปชช. รับประทานอาหารและดื่มที่ร้านอาหาร ผับและบาร์มากขึ้น ในขณะที่ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลงร้อยละ ๑ อย่างไรก็ดี ยอดขายออนไลน์โดยรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกยังเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗.๗ (จาก ๒๗.๑ ในเดือน ก.ค.) และยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๕ เนื่องจาก ปชช. เดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาของ ONS พบว่า ร้อยละ ๖.๕ ของภาคธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยห้างสรรพสินค้าและร้านขายเสื้อผ้าได้รับผลกระทบมากที่สุด
    ๒.๓ ธุรกิจ Hospitality ร้านอาหารและผับใน สอ. ออกข่าวเตือนว่าราคาอาหารมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยมีปัจจัยจากการสิ้นสุดมาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด ในวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔ ทำให้ภาษี VAT ปรับขึ้นจากร้อยละ ๕ มาเป็นร้อยละ ๑๒.๕ (และจะปรับขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐ ในเดือน เม.ย. ๖๕) ทั้งนี้ จากการสำรวจที่จัดทำโดยองค์กร UK Hospitality/ British Beer and Pub Association และ Tourism Alliance พบว่า บริษัทจำนวน ๖ ใน ๑๐ ราย อาจต้องลดอัตราการจ้างงานภายในบริษัทในกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษี VAT มาเป็นร้อยละ ๒๐ และเรียกร้องให้ รบ. สอ. คงอัตราภาษี VAT ไว้ที่ร้อยละ ๑๒.๕ เป็นการถาวรเพื่อช่วยภาคธุรกิจให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วและรักษาการจ้างงานด้วย[7]

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    เมื่อวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศมาตรการ  Household Support Fund เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ครัวเรือนใน สอ. ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นแทนมาตรการ COVID Local Support Grant ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔[8] โดย รบ. สอ. จะจัดสรร งปม. จำนวน ๕๐๐ ล้านปอนด์ ให้สภาท้องถิ่น (councils) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่ยากไร้เพื่อใช้ซื้ออาหารและของใช้ประจำวันที่จำเป็น ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๖๔ จนสิ้นสุดฤดูหนาว (มี.ค. ๖๕) ก่อนหน้านี้ รบ. สอ. ได้ประกาศมาตรการ Warm Home Discount โดยมอบส่วนลดค่าไฟและค่าก๊าซมูลค่า ๑๔๐ ปอนด์/ครัวเรือนสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจำนวนกว่า ๒.๒ ล้านหลัง และมาตรการ Cold Weather Payment ที่ให้เงินช่วยเหลือเพิ่มจำนวน ๒๕ ปอนด์แก่ครอบครัวที่ยากไร้ในช่วงฤดูหนาวนี้ เป็นต้น[9] ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่านโยบายดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ (มากกว่าร้อยละ ๔ ซึ่งสูงกว่าอัตราที่ธนาคารกลางอังกฤษกำหนดไว้ในนโยบายการเงินกว่าเท่าตัว) แต่เชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะปรับตัวลดลงได้เนื่องจาก รบ. สอ. มีแนวโน้มกู้ยืมเงินมาอุดหนุนการจ้างงานน้อยลง (มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้างเพื่อบรรเทาวิกฤตโควิด-๑๙ ที่เรียกว่า Furlough Scheme ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔)

๔. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๔.๑ ONS[10] ปรับรายงานการขยายตัวทาง ศก. ของ สอ. โดยระบุว่า ศก. สอ. ในช่วงไตรมาสที่สองขยายตัวในอัตราร้อยละ ๕.๕ สูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ ๔.๘ ซึ่งมีปัจจัยจากการออกจากล็อกดาวน์ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะในส่วนของภาคธุรกิจค้าปลีกและภาค hospitality นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกระตุ้นจากการลงทุนสาธารณะของ รบ. สอ. ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ ๘.๑ จากการขยายตัวด้านการลงทุนในอัตราร้อยละ ๔.๕ (สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๒.๔) และการขยายตัวของภาคการส่งออกในอัตราร้อยละ ๖.๒ (สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ ๔) อย่างไรก็ดี ศก. สอ. ยังมีขนาดเล็กกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดในอัตราร้อยละ ๓.๓ (เทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๖๒) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นว่า ศก. ของ สอ. เกิดการชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่สามซึ่งมีปัจจัยจากการขาดแคลนแรงงานและปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับรายงานการประเมินการเติบโตทาง ศก. ประจำไตรมาสที่สามลดลงจากคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ ๒.๙ เป็นร้อยละ ๒.๑
    ๔.๒ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee – MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษประเมินว่า สถานการณ์ชะงักงันในภาคการขนส่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของ ศก. และน่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าจำเป็นและพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ ๔ ไปจนถึงไตรมาสที่สองของปี ๖๕ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอังกฤษได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ ๐.๑ ต่อไปก่อนเพื่อรอการปรับตัวของสภาวะ ศก. ของ สอ. ภายหลังการสิ้นสุดของ Furlough Scheme ในวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๔ ก่อนจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยคาดว่าหากอัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่าร้อยละ ๔ ต่อเนื่องจะส่งให้ ศก. สอ. ขยายตัวในไตรมาสที่ ๓ ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกประมาณร้อยละ ๑[11]

 

[1] https://www.bbc.co.uk/news/uk-58701620
[2] https://www.gov.uk/government/news/more-support-to-help-people-to-become-hgv-drivers-among-package-of-government-measures-to-ease-risk-of-shortages
[3] https://www.gov.uk/government/news/up-to-5500-poultry-workers-to-help-deliver-christmas-dinners
[4] https://www.bbc.co.uk/news/uk-england-norfolk-58736742
[5] https://www.ofgem.gov.uk/publications/record-gas-prices-drive-price-cap-ps139-customers-encouraged-contact-supplier-support-and-switch-better-deal-if-possible
[6] https://www.ons.gov.uk/businessindustryandtrade/retailindustry/bulletins/retailsales/august2021
[7] https://www.bbc.co.uk/news/business-58750336
[8] https://www.gov.uk/government/publications/covid-local-support-grant-guidance-for-local-councils
[9] https://www.gov.uk/government/news/government-launches-500m-support-for-vulnerable-households-over-winter
[10] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/quarterlynationalaccounts/apriltojune2021
[11] https://www.bbc.co.uk/news/business-58665538