สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ต.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญใน สอ. ในช่วงวันที่ 1 - 15 ต.ค. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,420 view

๑. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจ สอ.
    ๑.๑ น้ำมันเชื้อเพลิง สมาคมผู้ค้าปลีกน้ำมันของ สอ. (Petrol Retailers Association – PRA)
ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดจากการขาดแคลน พนง. ขับรถขนส่งน้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของ สอ. ยกเว้นสถานีบริการน้ำมันในกรุงลอนดอนและภาค ตอ. เฉียงใต้ของอังกฤษ โดยก่อนหน้านี้ (๒๖ ก.ย.) รบ. สอ. ได้ประกาศมาตรการบรรเทาปัญหาโดยการให้วีซาทำงานชั่วคราวระยะสั้นระหว่างช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. ๖๔ แก่ พนง. ขับรถ HGV ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานใน สอ. จำนวน ๕,๐๐๐ คน[1] และต่อมาเมื่อวันที่ ๒ ต.ค. รบ. สอ. ประกาศปรับปรุงมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมโดยให้วีซาทำงานชั่วคราวระยะสั้นทันที (สมัครก่อนวันที่ ๑๕ ต.ค. ๖๔) สำหรับ พนง. ขับรถขนส่งน้ำมันชาวต่างชาติที่ประสงค์เข้ามาทำงานใน สอ. จำนวน ๓๐๐ คน ตั้งแต่เดือน ต.ค. ๖๔ - สิ้นเดือน มี.ค. ๖๕ และขยายอายุวีซาดังกล่าวให้แก่ พนง. ขับรถขนส่งทั่วไปที่เหลือในโควตาอีกจำนวน ๔,๗๐๐ คน ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. ๖๕ (จากเดิมสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. ๖๔) ในขณะเดียวกัน รบ. สอ. ให้ทหารจำนวน ๒๐๐ นายเข้ามา ช่วยขับรถขนส่งน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ด้วย ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี สมาคมการขนส่งทางถนน (Road Haulage Association - RHA) มีความเห็นว่า รบ. สอ. ควรพิจารณาขยายอายุวีซาดังกล่าวให้มีอายุขั้นต่ำ ๑๒ เดือน เพื่อดึงดูดให้ พนง. ขับรถ HGV ต่างชาติเข้ามาทำงานใน สอ. มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึงจะไม่เกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์ใน สอ. ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่ยังคลุมเครือส่งผลให้ ปชช. ในหลายพื้นที่เริ่มกักตุนสินค้าจำเป็นแล้ว
   ๑.๒ อาหาร บ. 2 Sisters Food Group ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเนื้อไก่สดรายใหญ่ที่สุดใน สอ. ให้ข้อมูลว่าบริษัทอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาเนื้อไก่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุจากปัจจัย Brexit วิกฤตโควิด ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาด้านการขนส่งสินค้า กอปรกับต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ พลังงาน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้ต้นทุนของอาหารสัตว์ (feed cost) และต้นทุนสินค้า (commodity cost) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๕ และร้อยละ ๒๐ ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่ามาตรการออกวีซาชั่วคราวสำหรับ พนง. ขับรถขนส่งและแรงงานในฟาร์มไก่เนื้อมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วนและในระยะสั้นเท่านั้น จึงย่อมทำให้มีการปรับขึ้นราคาเนื้อไก่และอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อไก่ในท้ายที่สุดโดยอาจสูงถึงร้อยละ ๓๐ – ๕๐ เมื่อมาตรการสิ้นสุดลง[2]

๒. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สอ.
    ๒.๑ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เช่น Tesco[3] และ Morrison[4] ประสบความสำเร็จในการปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี ๖๔ โดยมีผลประกอบการที่เป็นกำไรเพิ่มขึ้น ในส่วนของ Tesco มียอดขายปรับขึ้นร้อยละ ๕.๙ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ ๓.๔ หมื่นล้านปอนด์ ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘ คิดเป็นมูลค่า ๑.๓ พันล้านปอนด์ ในขณะที่ Morrisons ซึ่งเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ได้ประกาศจ้าง พนง. เพิ่มจำนวน ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงงานผลิตและศูนย์กระจายสินค้าในการรองรับปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสแล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการทั้งสองรายมีจุดเด่นในการมี คสพ. ที่ดีกับผู้ผลิตมาเป็นเวลานาน หรือมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของกิจการในสายการผลิตและขนส่งของตนเอง จึงช่วยรักษาเสถียรภาพในห่วงโซ่อุปทานไว้ได้แม้ว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคบริการและ พนง. ขับรถใน สอ. อย่างไรก็ดี บริษัททั้งสองยังคาดการณ์ว่าแรงกดดันจากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลระยะยาวให้ในภาพรวมอาจมีการปรับขึ้นราคาอาหารและสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ ๕ ในช่วงฤดูหนาวนี้
    ๒.๒ รถยนต์ ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ของ สอ. (Society of Motor Manufactures and Traders – SMMT) พบว่า มีผู้จดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในเดือน ก.ย. ๖๔ ทั้งหมดจำนวน ๒๑๔,๐๐๐ คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ ๓๕ ซึ่งถือเป็นสถิติประจำเดือน ก.ย. ที่ต่ำที่สุดในรอบ ๒๓ ปี โดยมีปัจจัยจากวิกฤตโควิดที่ส่งผลให้การผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมรถยนต์ในแหล่งผลิตทั่วโลกไม่เพียงพอกับการผลิตและทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ สอ. มียอดการผลิตรถยนต์โดยรวมลดลง ทั้งนี้ SMMT รายงานว่า ในขณะเดียวกัน ปชช. สอ. นิยมซื้อรถยนต์ระบบไฟฟ้ามากขึ้นจากนโยบายส่งเสริมของ รบ. สอ. โดยมีผู้จดทะเบียนรถยนต์ระบบไฟฟ้าใหม่ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มากกว่า ๓๒,๐๐๐ คัน หรือเกือบเท่ากับจำนวนรถยนต์ระบบไฟฟ้าที่จดทะเบียนทั้งหมดในปี ๖๒ นอกจากนี้ ปัจจัยจากสภาวะชะงักงันในการผลิตรถยนต์ใหม่ทำให้ยอดขายรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสที่สองของปี ๖๔ ตลาดรถยนต์มือสองขยายตัวสูงถึงร้อยละ ๑๐๘.๖ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว[5] 
    ๒.๓ พลังงาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีบริษัทจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับครัวเรือนรายย่อยของ สอ. ประกาศล้มละลายและปิดกิจการถาวรเพิ่มอีก ๓ ราย ได้แก่ บ. Pure Planet  บ. Colorado Energy และ บ. Daligas ส่งผลกระทบต่อลูกค้าประมาณ ๒๕๙,๐๐๐ ราย (รวมแล้วในเดือน ก.ย. ๖๔ มีบริษัทให้บริการก๊าซธรรมชาติรายย่อยใน สอ. ปิดกิจการรวม ๑๒ บริษัท) โดยมีปัจจัยจากราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติปัจจุบันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ ๒๕๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค. ๖๔ เนื่องจากปริมาณการผลิตและนำเข้าก๊าซไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นฤดูหนาวหลังจากที่มีการลดกำลังผลิตไปในช่วงวิกฤตโควิด กอปรกับ รบ. สอ. มี กม. ควบคุมเพดานค่าบริการพลังงาน (price cap) เพื่อปกป้องผู้บริโภคทำให้บริษัทผู้ให้บริการไม่สามารถปรับขึ้นค่าบริการต่อหน่วยเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้ทันที[6] นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่าสัญญาณดังกล่าวสะท้อนข้อเท็จจริงว่า สอ. ยังพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเป็นลำดับต้นในยุโรป โดยมีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยก๊าซประมาณร้อยละ ๓๐ และครัวเรือนประมาณร้อยละ ๘๕ ใช้ก๊าซทำความร้อนภายในบ้าน จึงจะส่งผลให้ค่าบริการพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ในไตรมาสที่ ๔ ของปี อีกทั้งย่อมมีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพในภาพรวมด้วยซึ่งได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้ออยู่แล้วในขณะนี้

๓. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รบ. สอ.
    ๓.๑ เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๖๔ รบ. สอ. ประกาศมาตรการบังคับใช้ กม. ‘Natasha’s Law’[7] มีผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่าย Pre-packed food หรือสินค้าอาหารที่ปรุงสดในร้าน เช่น แซนวิช ขนมปังอบ ฯลฯ ต้องระบุส่วนผสมอย่างครบถ้วนและชัดเจน ตลอดจนต้องระบุสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหาร (Food Allergens) จำนวน ๑๔ ชนิดด้วย ได้แก่ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง (celery) ธัญชาติ (cereals) สัตว์น้ำที่มีเปลือก เช่น กุ้ง ปู (crustaceans) ไข่ ลูปิน (lupin) นม สัตว์ประเภทหอย (molluscs) มัสตาร์ด (mustard) ถั่ว (almonds, hazelnuts, walnuts, brazil nuts, cashews, pecans, pistachios, macadamia) ถั่วลิสง เมล็ดงา ถั่วเหลือง รวมทั้ง สาร sulphur dioxide และ สาร sulphites (หากมีความเข้มข้นมากกว่า ๑๐ ส่วน/ล้าน) แม้ว่าพัฒนาการดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่จากการประเมินในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จำนวนมากยังไม่มีความพร้อมในทางปฏิบัติซึ่งมีความยุ่งยากในการตรวจสอบโดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบจากวัตถุดิบหลายชนิด ซึ่งเกรงว่าจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการประกอบธุรกิจและเพิ่มต้นทุนไปโดยปริยายต่อไป
    ๓.๒ เมื่อวันที่ ๘ ต.ค. ๖๔ รบ. สอ. โดย นรม. Boris Johnson ประกาศแต่งตั้ง Sir David Lewis อดีตผู้บริหารของห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต Tesco ให้ดำรงตำแหน่ง ทปษ. ของ รบ. สอ. เพื่อแก้ไขปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานในขณะนี้ ทั้งนี้ Sir Lewis จะทำหน้าที่เป็น ปธ. ร่วมระหว่างกลุ่ม Supply Chain Advisory Group ซึ่งประกอบด้วยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ และหน่วยงาน Industry Taskforce ของรัฐ เพื่อรับฟังและรวบรวมข้อเสนอแนะในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน[8] ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รายงานของ สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ. (Office for National Statistics - ONS) พบว่า ปชก. ที่มีการสำรวจมากกว่าร้อยละ ๑๗ ไม่สามารถซื้อสินค้าจำเป็นได้ และมากกว่าร้อยละ ๒๓ ไม่สามารถซื้อสินค้าประเภทอื่นที่ใช้ประจำได้เนื่องจากไม่มีสินค้าวางจำหน่าย โดยภาคธุรกิจเริ่มแสดงความกังวลว่า การขาดแคลนสินค้าจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อใกล้ช่วงเทศกาสคริสต์มาส แต่ รบ. สอ. ยังเชื่อมั่นว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการปรับตัวของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะสั้นและจะคลี่คลายได้ก่อนเทศกาลคริสต์มาส[9] อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวกรณีเรือขนส่งสินค้าต่อคิวสะสมเพิ่มขึ้นจำนวนมากและเป็นเวลาหลายวันที่ท่าเรือ Felixstowe ซึ่งเป็นท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดของ สอ. โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ภาคธุรกิจค้าปลีกได้เร่งสั่งซื้อสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ค้างอยู่ในบริเวณท่าเรือจำนวนมากด้วย ส่งผลให้เกิดสภาวะชะงักงันที่ท่าเรือดังกล่าวและบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าไปที่ท่าเรืออื่นใน สอ. และใน EU หรือเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศแทน[10]                         
    ๓.๓ เมื่อวันที่ ๑๓ ต.ค. ๖๔ รบ. สอ. โดยนาย George Eustice รมว. สวล. (DEFRA) ได้ประกาศมาตรการให้วีซาทำงานชั่วคราวระยะสั้นแก่ชาวต่างชาติที่ประสงค์เข้าทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ใน สอ. จำนวน ๘๐๐ คน โดยสามารถยื่นใบสมัครได้จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. ๖๔ โดยวีซามีระยะเวลา ๖ เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในโรงงานฆ่าสัตว์และการขาดแคลนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บางรายการ (เช่น เนื้อหมู) ให้ทันก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส นอกจากนี้ รบ. สอ. ยังประกาศมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ได้แก่ การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาหมูที่ถูกฆ่าแล้วอย่างถูกสุขอนามัยเป็นเวลา ๓ - ๖ เดือน (Private storage aid scheme) และการยกเว้นภาษีผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเป็นเวลา ๑ เดือนในเดือน พ.ย. ๖๔[11] เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังได้รับผลกระทบ

๔. ทิศทางเศรษฐกิจของ สอ.
    ๔.๑ ข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติของ สอ.[12] ระบุว่า ศก. สอ. ในเดือน ส.ค. ๖๔ ขยายตัวร้อยละ ๐.๔ ซึ่งมีปัจจัยจากการออกจากล็อกดาวน์ที่กระตุ้นกิจกรรมในภาคธุรกิจ Hospitality ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และผับขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๓ ภาคธุรกิจศิลปะ บันเทิง และสันทนาการ โดยเฉพาะสถานออกกำลังกาย สวนสนุก รวมถึงงานเทศกาลดนตรีและศิลปะต่าง ๆ ขยายตัวร้อยละ ๙ ภาคธุรกิจการบินขยายตัวร้อยละ ๒๗.๕ (ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดคิดเป็นร้อยละ ๗๕) ในขณะที่ปัจจัยจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานทำให้ผลผลิตของภาคก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละ ๐.๒ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ศก. สอ. ในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตการขาดแคลนแรงงาน/ พนง. ขับรถขนส่ง และการปรับขึ้นของค่าครองชีพ
   ๔.๒ IMF ปรับรายงานการคาดการณ์การขยายตัวของ ศก. โลกประจำปี ๖๔ มาอยู่ที่ร้อยละ ๕.๙ โดยคาดว่า ศก. ของสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ ๖ (ลดลงจากเดิมร้อยละ ๗) ญป. ร้อยละ ๒.๔ (เดิมร้อยละ ๒.๘) เยอรมนีร้อยละ ๓.๑ (เดิมร้อยละ ๓.๖) ในขณะที่ ศก. สอ. มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ ๖.๘ (เดิมร้อยละ ๗) โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ชะลอการฟื้นตัวทาง ศก. โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และ สอ. มาอยู่ที่ร้อยละ ๓.๒ และร้อยละ ๕.๓ ตามลำดับ นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่า ศก. ของ ปท. ในกลุ่ม OECD ส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดในปีหน้าหลังจากที่ปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง และจะขยายตัวร้อยละ ๑ ในปี ๒๕๖๖ ในขณะที่ ศก. ของ ปท. กำลังพัฒนา (ยกเว้นจีน) มีแนวโน้มถดถอยและคงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ ๕.๕ ในปี ๒๕๖๖ ทั้งนี้ ความแตกต่างดังกล่าวมีปัจจัยจากอัตราการกระจายวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ของแต่ละ ปท. ที่ไม่เท่าเทียมกัน และมาตรการฉีดวัคซีนที่ขาดประสิทธิภาพในหลายประเทศ[13]

 

[1] https://www.gov.uk/government/news/more-support-to-help-people-to-become-hgv-drivers-among-package-of-government-measures-to-ease-risk-of-shortages
[2] https://www.bbc.co.uk/news/business-58895250
[3] https://www.bbc.co.uk/news/business-58813624
[4] https://www.bbc.co.uk/news/business-58786738
[5] https://www.bbc.co.uk/news/business-58795798
[6] https://www.bbc.co.uk/news/business-58909621
[7] ตั้งขึ้นตามชื่อของผู้เสียชีวิตจากการแพ้อาหารอย่างรุนแรง (https://natashas-law.com/)
[8] https://www.gov.uk/government/news/prime-minister-appoints-expert-supply-chain-advisor
[9] https://www.bbc.co.uk/news/business-58840555
[10] https://www.bbc.co.uk/news/business-58888552
[11] https://deframedia.blog.gov.uk/2021/10/15/package-of-measures-announced-to-support-pig-sector/
[12] https://www.ons.gov.uk/economy/grossdomesticproductgdp/bulletins/gdpmonthlyestimateuk/august2021
[13] https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2021/10/12/world-economic-outlook-october-2021